ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 11-17 กันยายน 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

ทวีตของทนายอานนท์ นำภา

ที่มีผู้แชร์มายัง “มติชนสุดสัปดาห์” อีกทอดหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563

ก่อนที่ทนายอานนท์จะเข้าเรือนจำเพราะถูกศาลสั่งถอนประกัน ตามการร้องขอของตำรวจ (แต่ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563)

แล้ว “มติชนสุดสัปดาห์” นำมาถ่ายทอดอีกครั้งนี้

โปรดอย่าเข้าใจผิดว่านี่คือ “ปฏิบัติการร่วม” หรือสมรู้ร่วมคิด

เพราะปกติ สำหรับสื่อแล้ว

นักเคลื่อนไหวไม่ว่าฝ่ายไหน มีอะไร มักจะแจ้งให้สื่อได้รับทราบเป็นเรื่องปกติ

ส่วนรับทราบแล้ว จะเผยแพร่หรือไม่ เป็นวิจารณญาณของสื่อ

 

ทั้งนี้ เมื่อ “มติชนสุดสัปดาห์” ใช้วิจารณญาณแล้ว

เห็นสมควรถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบ

ด้วยต้องการบอกให้เห็นถึง “ปรากฏการณ์” ที่อย่างน้อย “นักเคลื่อนไหว” ได้กลิ่น

นั่นคือ กระแส “การรัฐประหาร” คละคลุ้งขึ้นมาอีกครั้ง

โดยใคร และเพื่อประโยชน์ของฝ่ายไหน

ต้องติดตามกันต่อไป

 

แม้มุกดา สุวรรณชาติ แห่งคอลัมน์หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว จะประเมินสถานการณ์แล้ว ปักหลักว่า “ข่าวรัฐประหาร…แค่ขู่เด็ก”

แต่หากไปถาม “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ถึงกรณีนี้

อาจารย์นิธิก็เตือนว่า

“อย่าเพิ่งวางใจว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารหรือยึดรัฐด้วยกำลังวิธีอื่น

คนหน้ามืดเผลอตัวเพราะขาดสัมปชัญญะย่อมมีอยู่เสมอ ในทุกสังคม และในทุกสถานการณ์”

พร้อมกับเตือนในเตือนอีกว่า

“โจทย์ใหม่ตอบด้วยรัฐประหารไม่ได้”

ซึ่งใครคิดและหวังจะยึดอำนาจ

ควรอ่านอย่างมีโยนิโสมนสิการ

จะได้ยับยั้งชั่งใจ

“…(เพราะ) ในครั้งนี้ สิ่งที่เขาต้องเลือกมัน (จะ) หนักหนาสาหัส

เพราะจุดจบจะไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล แต่คือการเปลี่ยนระบอบอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง”

เป็นคำเตือน สมควรที่ฝ่ายคิดจะทำ ต้องล้างหูฟัง

 

ขณะเดียวกัน ฝั่งฟากประชาชนเอง ก็จำเป็นต้องแสดงจุดยืน ไม่เอา “รัฐประหาร” เช่นกัน

ทำไมต้อง “ไม่เอา”

บทความ “ปฏิรูปประเทศ : เรื่องนิยายหรือโปกฮา” ของสมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

มีคำตอบให้ส่วนหนึ่ง

โดยเฉพาะข้ออ้างเรื่อง “ปฏิรูป”

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในมาตรา 27 กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีสมาชิก

ทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน

และยังกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเนื้อหาถึงกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์

พอมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงปรากฏหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

กำหนดให้ปฏิรูปไว้ทั้งหมด 11 ด้าน

และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ชุด

ซึ่งอาจารย์สมชัยบอกว่า

“ช่างเป็นภาพที่สะท้อนความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังของการปฏิรูปประเทศที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำในช่วงที่เป็นหัวหน้า คสช.และต่อเนื่องในฐานะนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง”

 

แต่เพียงสามปี

11 คณะกรรมการปฏิรูป จำนวน 120 คนถูกโละทิ้ง

ทิ้งไว้แต่ผลงานที่ว่างเปล่า

และมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทน อีก 13 คณะ

ซึ่งก็ยังเข้าอีหรอบเดิม

อาจารย์สมชัยตามไปดูรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปฉบับล่าสุด (เดือนมกราคม-มีนาคม 2563) ที่ส่งถึงรัฐสภาในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด

ก็พบตัวเลขที่น่าหดหู่ยิ่ง

หดหู่อย่างไร พลิกอ่านที่หน้า 19

ซึ่งแน่นอน ใครได้อ่านแล้ว

มันจะตอกย้ำ

ตอกย้ำว่าทำไมประเทศนี้

จึงไม่ควรมีปฏิวัติรัฐประหารอีก

หรือถ้ามี จะปฏิบัติ “สัญญาใจ” อย่างที่ทนายอานนท์ทวีตเชิญชวนไว้ ก็ตามอัธยาศรัย