ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 59

แม้วันนี้ 7 นักศึกษาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลทหารแล้ว

แต่กรณี “ตรวน” ในสายตาองค์กรสิทธิมนุษยชน

และกรณี “กุญแจเท้า” ในสายตาประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ยังน่าสนใจ

เริ่มที่ จดหมายของ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่มีถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ก่อน

…ตามที่สื่อต่างๆ นำเสนอข่าว 13 นักศึกษาถูกจับกุม

เนื่องจากการแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ย่านนิคมบางพลี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนได้นำนักศึกษาทั้ง 7 คน ที่ไม่ขอประกันตัว ถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปขอฝากขังต่อศาลทหาร

ปรากฏว่ามีการใส่โซ่ตรวน ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง ต่อหน้าสาธารณชนและสื่อมวลชน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 14 ได้กำหนดไว้ว่า ห้ามใช้เครื่องพันธนาการ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ เช่น

1) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น

2) เป็นบุคคลวิกลจริต อันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น

3) เป็นบุคคลที่น่าพยายามหลบหนี

การใส่ตรวนข้อเท้านั้นเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อบทบัญญัติ ข้อ 1, ข้อ 5 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

และขัดกับบทบัญญัติข้อ 7, 10(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

การที่ไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีนี้ถือว่าขัดต่อมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 33 ซึ่งแม้ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายในไทย แต่ก็เป็นเอกสารที่ไทยให้ความเห็นชอบ

การควบคุมตัวบุคคลโดยใช้เครื่องพันธนาการนั้น (กรณีนี้โซ่ตรวนข้อเท้า) จึงทำได้กรณีที่มีข้อยกเว้นเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่านักศึกษาทั้ง 7 คนมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจะหลบหนี

และได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้สิทธิในการประกันตัว

ก็ไม่มีความจำเป็นใช้เครื่องพันธนาการ

ทำให้ผู้ต้องขังได้รับความเดือดร้อนเกินควร

เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกและได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกาย

เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ให้มีการทบทวนด้านนโยบายการนำโซ่ตรวนมาใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษ

2. ให้มีการทบทวนแก้ไขข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์เพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานที่มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

3. ให้มีการปรับปรุงสภาพของเรือนจำและการเดินทางมาศาลให้วิธีที่เหมาะสมมาใช้แทนการใช้โซ่ตรวนในกรณีเพื่อความปลอดภัย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ต่อมา มีเอกสารจาก นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479

เครื่องพันธนาการที่จะใช้แก่ผู้ต้องขังมี 5 ประเภท คือ (1) ตรวน (2) กุญแจมือ (3) กุญแจเท้า (4) ชุดกุญแจมือและกุญแจเท้า และ (5) โซ่ล่าม

กรณีการพันธนาการผู้ต้องขังทั้ง 7 เป็นการใช้กุญแจเท้า ไม่ใช่โซ่ตรวนตามที่มีการให้ข่าว

ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ข้อ 28 วรรคสาม ในกรณีที่ต้องนำตัวคนต้องขังหรือคนฝากไปนอกเรือนจำ ถ้าใช้เครื่องพันธนาการ ให้ใช้กุญแจมือ

เว้นแต่คนต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์ จะใช้ตรวน หรือกุญแจเท้า หรือชุดกุญแจมือและกุญแจเท้าก็ได้

และตามข้อ 30 ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการอย่างอื่นซึ่งกำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้

เว้นแต่ในกรณีจำเป็น

ผู้บัญชาการเรือนจำจะอนุญาตให้ใช้เครื่องพันธนาการอย่างอื่น ซึ่งเห็นว่าเบากว่านี้ก็ได้

ในกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องขัง 7 คน ตามข่าว

มาตรการที่พึงใช้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องขังในอนาคต

ควรเริ่มต้นพิจารณาใช้เครื่องแต่งกายของผู้ต้องขังให้สามารถปกปิดเครื่องพันธนาการไว้

และในระหว่างนำตัวผู้ต้องขังไปฝากขังต่อศาล

ควรป้องกันมิให้มีการถ่ายภาพผู้ต้องขังดังกล่าว

โดยอาจใช้ฉากกั้นมิให้มองเห็นภาพขณะผู้ต้องขังลงหรือขึ้นรถยนต์ที่ใช้ควบคุมผู้ต้องขังไปศาลหรือกลับจากศาล หรือใช้มาตรการอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

จะเห็นด้วยกับ “สุรพงษ์ กองจันทึก” หรือ “วัส ติงสมิตร”

โปรดช่วยกันแลกเปลี่ยน-ถกเถียง

เพราะกรณีนี้อาจเกิดขึ้นกับเขาหรือเราก็ได้ในอนาคต

รวมถึงประเด็น นักศึกษาทั้ง 7 คน คือผู้ต้องขังใน “คดีอุกฉกรรจ์”

จนต้องใช้ ตรวน หรือ กุญแจเท้า หรือไม่