ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

“ผมเสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการเปิดสอนวิชาหน้าด้าน

แทนวิชาหน้าที่พลเมือง

สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีวิชาไหนที่เหมาะสมเท่ากับวิชานี้อีกแล้ว

เป็นวิชาที่ทำให้คนก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโต และอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ได้นานที่สุด

ควรเชิญใครมาเขียนหลักสูตร ผมคงไม่ต้องบอกนะ”

หลังจากผมโพสต์เฟซบุ๊กได้ไม่นาน เบียร์ยังไม่ทันหมดกระป๋อง

ได้มีคำสั่งให้ลบโพสต์ และให้ไปรายงานตัวที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นการด่วน

ผมไปถึงกระทรวงตอนบ่ายสามโมง เครื่องบินดีเลย์ รถติด และแท็กซี่พาวน

ถือเป็นเรื่องดีที่ผมได้มีเวลาทำใจ แม้เคยมากระทรวงหลายครั้ง ทุกครั้งผมเป็นฝ่ายมารอพบ รอยื่นหนังสือ

แต่คราวนี้ถูกเรียกพบ และถูกโทร.จิกทุก 5 นาทีหลังลงจากเครื่อง

ผมไปถึงประตูทางขึ้นตึก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีผิวขาวอวบวัยราวสามสิบห้า พาผมขึ้นตึกชั้นสองโดยไม่ต้องแลกบัตร

รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงนั่งรออยู่แล้ว…”

 

นี่คือ เรื่องสั้น “วิชาหน้าด้าน”

ของ วัชรินทร์ จันทร์ชนะ

แม้นามปากกานี้จะเป็นของผู้มีสเตตัส เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในแวดวงการศึกษา แห่งดินแดนใต้

แต่หากติดตามผลงานของเขา

ไม่ว่าพ็อกเก็ตบุ๊ก รวมเรื่องสั้น “เกี่ยวกับการเมืองแต่ไม่ตัดประเด็นชู้สาว”

หรือกระทั่งเรื่องสั้น “วิชาหน้าด้าน” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ผู้อ่านย่อมจะจับแนวของเขาได้

นั่นคือ ไปในทางยั่วล้อ

จึงมิควรมีใคร “หน้าด้าน” ให้เขาทิ้งหมวก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ให้เหลือหมวกเฉพาะนักเขียน แล้วไปเล่นงานวัชรินทร์ จันทร์ชนะ อย่างเด็ดขาด (ฮา)

 

ไม่ว่าจะปล่อยก๊าก

หรือหัวเราะแค่นๆ ในลำคออย่าง “ขันขื่น” หลังจากอ่านเรื่องสั้นข้างต้น

เพื่อให้อารมณ์คืนสู่ความ “ปกติ”

โปรดพลิกไปหน้า 81 อ่านคอลัมน์ ผี พรหมณ์ พุทธ ของ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง”

ที่นำเสนอ

“อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา กับหลากเรื่องราวใน ‘รามายณะ’ ที่เราไม่ค่อยรู้”

อย่างน่าสนใจ

 

คมกฤชเขียนไว้ในคอลัมน์ ว่า

คนฮินดูเคร่งๆ รุ่นเก่าๆ มักบอกว่า ให้สอนรามายณะกันในบ้าน

เพราะเป็นเรื่องของพี่น้องรักกัน เรื่องศีลธรรมของครอบครัวและสังคม นับว่าเป็นสวัสดิมงคล…

…ในรามายณะมีเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย

และได้เก็บเรื่องราวเหล่านั้นจากหนังสือ The Book of Ram โดย Devdutt pattanaik มาให้อ่าน

ซึ่งคมกฤชเชื่อว่า จะได้ทั้งความรู้ ความอิ่มเอมเปรมใจ

อย่างเรื่อง “รับโอวาทจากทศกัณฐ์”

 

…ก่อนทศกัณฐ์จะสิ้นใจ

พระรามเห็นว่าทศกัณฐ์นั้นที่แท้เป็นพระราชาที่ทรงความรู้ เป็นพรหมพงศ์ ทั้งยังได้รับการศึกษามาอย่างดี

พระลักษมณ์ควรจะต้องไปขอรับความรู้จากทศกัณฐ์ก่อนจะสิ้นใจ

เมื่อพระลักษมณ์ไปถึง จึงยืนอยู่ข้างศีรษะทศกัณฐ์ ซึ่งนอนทอดกายอยู่บนพื้นด้วยความหยิ่งผยอง พลางเอ่ยว่า

“เจ้าทศกัณฐ์! เมื่อโดนศรพระรามเช่นนี้เจ้าก็ต้องตายแน่ แต่ก่อนตายจงมอบความรู้ว่าเผื่อว่าเจ้าจะอายุยืนขึ้นสักนิด”

ทศกัณฐ์ไม่ตอบและผินหน้าไปทางอื่น

พระลักษมณ์กลับไปหาพระรามและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด

พระรามตำหนิว่า อย่างน้อยเมื่อจะไปขอรับความรู้จากผู้ใด แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรู ก็พึงแสดงตนอย่างนักเรียนของเขา

คือนอบน้อมและให้เกียรติ

พระรามจึงไปหาทศกัณฐ์ นั่งลงที่ปลายเท้าด้านหนึ่งแล้วกล่าวว่า

“พระราชาผู้ประเสริฐของรากษส

กรรมที่ท่านได้ทำนั้นก็ได้รับการตอบแทนแล้ว

ข้าจึงไม่มีรู้สึกเกลียดชังอันใดต่อท่านอีกในเวลานี้

มีเพียงความเคารพต่อความรู้ที่ท่านมี

ข้านั่งเบื้องปลายเท้าท่านดุจศิษย์ ขอท่านให้ความรู้ด้วย”

ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวยกย่องพระรามเป็นอันมาก

แล้วสอนราชธรรมว่า…

 

ทศกัณฐ์สอนอะไรพระราม โปรดพลิกไปอ่านเอง

อ่านแล้ว จะเห็นว่า ทั้ง “วิชาหน้าด้าน”

และทั้ง “รับโอวาทจากทศกัณฐ์”

สามารถโยนิโสมนสิการเข้ากับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ได้อย่างดียิ่ง

ทั้งการยั่วล้อ

และการให้อภัย โดยเฉพาะกับ “ศัตรู” ทางการเมือง