ขอแสดงความนับถือ/ฉบับวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

สืบเนื่องจาก “ขอแสดงความนับถือ” ฉบับที่แล้ว

ที่ประธานกรรมการบริษัทมติชน “ขรรค์ชัย บุนปาน” มอบนโยบายให้ทุกองคาพยพของ “มติชน”

ปลุก “รักการอ่าน” ขึ้นมาอีกครั้งนั้น

อยากให้พลิกไปหน้า 40

คอลัมน์วิช่วลคัลเจอร์ ของ “ประชา สุวีรานนท์”

ที่นำเสนอ

“หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได” เป็นตอนจบ หลังจากนำเสนอมาครบ 3 ตอน

ด้วยข้อสรุปน่าสนใจ

 

“…เอริก ชมิดต์ แห่งกูเกิล

บอกว่าเรากำลังอยู่ในเศรษฐกิจแบบใหม่

ซึ่งภายในสองวัน มนุษย์สามารถสร้างข้อมูลได้เท่ากับที่สร้างมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปี พ.ศ.2546

หรือราวห้าเอ๊กโซไบต์ต่อวัน

ดังนั้น เพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ

ความยากไม่ได้อยู่ที่การหาต้นไม้ในทะเลทราย

แต่อยู่ที่การหาต้นไม้ในป่า

เราจึงต้องมีการนำทางหรือ navigating

ซึ่งห้องสมุดช่วยได้…”

โปรดขีดเส้นใต้ที่ห้องสมุด

 

ประชา สุวีรานนท์ ขมวดไว้อีกว่า

“…อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยถูกถามว่าจะทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้อย่างไร

คำตอบของไอน์สไตน์คือ

อ่านนิทานให้ฟัง และถ้าอยากให้เด็กฉลาดกว่านั้น อ่านนิทานมากขึ้น

และบอกว่า นอกจากพ่อแม่จะใช้เวลาอ่านนิทานเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับเด็ก

เราจะต้องอ่านนิทานให้เขาฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่เขาชอบ

และไม่หยุดอ่านแม้เด็กจะอ่านเองได้แล้ว

การไม่มีห้องสมุดคือวิธีทำลายความชอบอ่านของเด็ก

ขณะนี้รัฐบาลในหลายประเทศกำลังปิดห้องสมุดลงโดยอ้างว่าเพื่อประหยัด

โดยไม่ยอมรับว่ากำลังขโมยเงินจากอนาคตและปิดทางออกของสังคม

สำหรับการอ่าน เราต้องเชื่อว่าเด็กกำลังไต่บันได

และยอมให้เด็กเริ่มด้วยนิยายที่เราเห็นว่าไม่ดี

เพราะการชอบอ่านอะไรก็ตามจะทำให้เขาไต่สูงขึ้นไปเรื่อย…”

 

พรรคการเมือง กำลังแข่งขันเรื่องเด็ก

พรรคหนึ่งเสนอนโยบาย “เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน”

อีกพรรคเสนอนโยบาย “มารดาประชารัฐ”

เงินเป็นตัวตั้ง ฟังผิวเผินน่าจะดี

แต่เงินส่วนหนึ่ง อาจมาจากการปิด “ห้องสมุด” ภายใต้ข้ออ้างว่า ห้องสมุดตายแล้ว

ทั้งที่หากเราย้อนกลับไปอ่านข้างต้น

ห้องสมุดอันเงียบสงบนั้น เป็นทั้ง navigating และเป็นประหนึ่ง “บันได” ให้เด็กไต่ทางปัญญาที่สูงไปเรื่อย

น่าเสียใจที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนชูเกิดปั๊บมีห้องสมุดไว้รอรับลูก

หรือ ห้องสมุดมารดาประชารัฐ

สังคมไทยจึงขาดแคลน “บันได” ทางปัญญา

ต้องใช้ “เก้าอี้” ป่ายปีนแทน

 

เป็นเก้าอี้ ดังที่ไมตรี รัตนา เขียนไปรษณียบัตรมาว่า

“บ้างใช้เป็น ที่รองปีน ให้เหยียบก้าว

เป็นที่ตาก รองเท้า เน่าเหม็นอับ

เป็นที่วาง ขัดปืน ให้เงาวับ

เป็นบันได รองรับให้ โ-ร ปีน”

ขออนุญาตเซ็นเซอร์บางคำ–เพื่อความเหมาะสม

ซึ่งสำหรับผู้มีปัญญา คงเดาออกว่า เป็นคำอะไร