“กระทรวงพลังงาน” หน่วยงานสำคัญ-ทรงอิทธิพลมากขึ้น | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งสำคัญและทรงอิทธิพลมากขึ้นๆ

เชื่อว่าในห้วงเวลานี้ กระทรวงพลังงานจะมีประเด็นให้กล่าวถึงมากขึ้นในหลายๆ มิติ ความพยายามปูพื้นให้ภูมิหลังกว้างๆ จากนี้ ย่อมจะเชื่อมโยงบทสนทนาให้มีสาระมากขึ้น

ในฐานะหน่วยงานรัฐ ระดับกระทรวง ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเพียง 2 ทศวรรษ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีที่มาที่น่าสนใจ ก่อนหน้านั้นราวทศวรรษในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ด้วยบทบาทอันโดดเด่นเริ่มต้นขึ้น

และในฐานะกระทรวงมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญ และธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะกำกับหน่วยงาน 2 แห่ง คือ ปตท. และ กฟผ.

ยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2534-2535) เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ด้วยบทบาทในภาพกว้างว่าด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ออกกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับ ในแนวทางผ่อนคลาย ยืดหยุ่นและเสรีมากขึ้น

ส่วนมิติสังคมธุรกิจ ถือเป็นกระบวนการจัดสรร สร้างสมดุลใหม่ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ยุคสื่อสาร ขณะนั้นเป็นกระแสหลัก ทั้งปรากฏโฉมหน้า “ผู้มาใหม่” ในสังคมธุรกิจไทยอย่างเป็นขบวน โดยมีทักษิณ ชินวัตร อยู่ด้วย

 

อีกชิ้นส่วนหนึ่ง คือ การปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ ในสถานการณ์ซึ่งเชื่อว่า หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพังในช่วงต่อจากนั้น เมื่อตรา พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้จัดตั้งขึ้น เป็นหน่วยงานในระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมด้านพลังงานของประเทศ ผนึกรวมหน่วยงานด้านพลังงานต่างกระจายออกไปสังกัดในกระทรวงต่างๆ

ปีเดียวกัน (2535) กฟผ.ได้จัดทำระเบียบแล้วเสร็จและออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Small Power Producer (SPP) ตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ และปี 2537 รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในรูปแบบที่เรียกว่า Independent Power Producer (IPP)

กฟผ.ปรับตัวสู่ยุคใหม่ด้วย จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อระดมทุนจากตลาดหุ้น ยุคที่กำลังเฟื่องฟู เข้าสู่เกมการแข่งขันกับโรงไฟฟ้าเอกชน ตั้งแต่ช่วงต้นๆ-บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (ก่อตั้งปี 2535 เข้าตลาดหุ้นปี 2538) และอีกช่วงที่ความเป็นไปอีกขั้น-บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RACH (ก่อตั้งและเข้าตลาดหุ้นปี 2543) ขณะกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของไทยหลายกรณี ได้ผันตัวจากธุรกิจเก่าๆ หรือข้างเคียงสู่ธุรกิจใหม่ กรณีที่น่าสนใจ – บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRI เครือข่ายกิจการรากฐานในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัชสมัย ร.5 และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU จากกิจการเหมืองแร่ ปรับตัวสู่ช่วงเวลาใหม่อย่างทันท่วงที ในฐานะกลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน

จังหวะไม่ค่อยดีนัก เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 กว่าจะมาตั้งหลักอีกครั้งก็ใช้เวลาราวทศวรรษ ทว่า ในจังหวะนั้นมีการเปลี่ยนผ่านสำคัญ กิจการพลังงานอีกแห่งหนึ่ง

นำพามาถึงการปรับโครงสร้างหน่วยงานกำกับของรัฐครั้งใหญ่

 

เริ่มต้นคล้ายๆ กัน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ตราขึ้นในยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย (2540 -2544) โดยมี ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นที่รู้กันดีว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ ตามเงื่อนไขกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) อันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยครั้งร้ายแรงที่ปะทุขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (2539-2540) ถึงขั้นจำต้องขอความช่วยเหลือ หรือเรียกกันว่าเข้าร่วมโครงการของ IMF (สิงหาคม 2540)

ช่วงปลายปี 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 เป็นไปตามขั้นตอนอย่างกระชับ ก่อนเข้าตลาดหุ้น อยู่ในช่วงต้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (2544-2549) พอดี จากนั้นในปลายปีได้จดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในช่วงเดียวกัน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐอย่างเจาะจง จากจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นทบวงพลังงาน (พฤศจิกายน 2545) หลังจาก ปตท.เข้าตลาดหุ้นเพียงเดือนเดียว จากนั้นไม่ถึงปี ยกระดับอีกครั้ง จัดตั้งเป็นกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ (ตุลาคม 2545)

 

กรณี ปตท.เข้าตลาดหุ้น เริ่มเป็นประเด็นอ่อนไหวทางสังคมและการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ กระแสต่อต้านค่อยๆ เพิ่มดีกรี ที่น่าสังเกต เสียงนั้นดูจะดังมากขึ้นๆ ตามกระแส “พุ่งแรง” ของ ปตท.

ภาพนั้นปรากฏขึ้นในปี 2547 เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร ดัชนีสำคัญอยู่ที่การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ พร้อมๆ กับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเชิงบวกต่อ ปตท.อย่างมากมาย แสดงผ่านข้อมูลทางการเงินสำคัญๆ สินทรัพย์ เคยอยู่ระดับ 3 แสนล้านบาท (ปี 2545) เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท (ปี 2547) จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท (ปี 2545) เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาท (ปี 2548-2549) ขณะเดียวกันราคาหุ้น ปตท.หรือ PTT จากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547

ในปีนั้น แผนการ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (Energy Complex หรือ EnCo) เปิดฉากขึ้น โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีถัดมา (2552) อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่อันโดดเด่น ได้ก่อสร้างเสร็จ เป็นที่ทำการสำหรับบริษัทในกลุ่ม ปตท. มากกว่า 10 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานหลายแห่งของกระทรวงพลังงาน นอกจากให้ภาพความยิ่งใหญ่ ยังสะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ปตท.กับกระทรวงพลังงาน

ปตท.จากรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์อันยุ่งยากเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว ในช่วงเวลาสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้ง เมื่อเข้าตลาดหุ้นในอีก 2 ทศวรรษต่อมา กิจการซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงานแห่งนี้ ขยายกิจการอย่างไม่หยุดยั้ง ได้กลายเป็นบริษัทไทยที่เติบโตที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียวมีรายได้ทะลุหลักล้านล้านบาทแห่งแรกของไทย

ปัจจุบันในนามบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์และรายได้ทะลุ 3 ล้านล้านบาทแล้ว มีกิจการในเครือมากมายจนแทบจะนับไม่ถ้วน ทั้งเป็นเครือข่ายบริษัทในตลาดหุ้นไทยใหญ่ที่สุด จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ขณะความสนใจเคยจับจ้อง ค่อยๆ เพลาลง

ในเวลาคาบเกี่ยวกัน ผู้คนได้หันมาสนใจธุรกิจเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจสำคัญ-กฟผ. ได้จังหวะเวลาอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนเติบโตขึ้นตามลำดับในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กี่ปีมานี้ โดยพิจารณาจากข้อสนเทศ นำเสนอต่อตลาดหุ้นของบรรดาบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แสดงผลประกอบการที่ดีขึ้น ไม่ว่ากิจการในเครือข่ายของ กฟผ.เอง หรือเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมซึ่งหันมาสู่ธุรกิจพลังงานดังที่อ้างถึงมาแล้ว

มีกรณีที่น่าสนใจ จับตามองเป็นพิเศษ คือ บริษัทพลังงานเอกชนที่มีบทบาทสูงในปัจจุบัน กับบทบาทอันเร้าใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเชื่อว่าจากนี้ไปด้วย

ดังนั้น ผู้คนจึงให้ความสนใจรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ •

 

 www.viratts.com