เอสซีจี ห้วงเวลาท้าทาย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เอสซีจี เผชิญความท้าทาย ด้วยปัจจัยสำคัญที่อ้างไว้ “ท่ามกลางเศรษฐกิจอาเซียน จีน โลกชะลอตัว…”

มาจากถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2566 – https://scgnewschannel.com/) โดยตั้งใจไม่พาดพิงถึงสถานการณ์การเมืองไทยเลย แม้อยู่ในภาวะท้าทาย ช่วงหัวเลี้ยวต่อครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้สรุปความเป็นไปไว้อย่างเห็นภาพ

“ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2566 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 253,379 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากยอดขายที่ลดลงของทุกกลุ่มธุรกิจจากสถานการณ์ตลาดที่อ่อนตัว มีกำไรสำหรับงวด 24,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน ขณะที่มีกำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษ (Profit excluding extra items) 9,786 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน”

มีข้อมูลอีกชุด บางดัชนีขอพิจารณาประกอบด้วย (อ้างอิงข้อมูลนำเสนอ – Local NDR hosed by Innovest X Securities, 2 สิงหาคม 2566) เมื่อเจาะจงบางตัวเลข พบว่า ในช่วงเดียวกัน (ครึ่งปี 2566) ของเครือข่ายเอสซีจีในอาเซียน มียอดขายได้ลดลงถึง 30% ขณะการส่งออกจากประเทศไทยสู่อาเซียน ก็ลดลงด้วยเช่นกันราว 42% จากภาพใหญ่ ยอดขายรวมระหว่างในประเทศไทยและอาเซียน มีสัดส่วนอยู่ที่ 57/43

ในเชิงพัฒนาการ เอสซีจีได้ก้าวผ่านยุคสมัยหนึ่งด้วยอัตราการเติบโตอย่างมหัศจรรย์ ตามยุทธศาสตร์และแผนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในช่วง 3 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อพิจารณาสินทรัพย์ ในช่วงปี 2530-2540 เติบโตจากระดับ 50,000 ล้านบาท เป็น 350,000ล้านบาท

มาสู่อีกยุคปัจจุบัน เน้นแผนการขยายตัวอย่างโฟกัสในธุรกิจหลักๆ คงอยู่ภายใต้โครงสร้างซึ่งมีการปรับครั้งใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คงสะท้อนความสามารถและความมั่นคง รักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขยับตัวอย่างมีจังหวะก้าว จากช่วงหลังวิกฤตการณ์ 2540 สินทรัพย์ลดระดับลงเหลือประมาณ 2 แสนล้านบาท ค่อยๆ เพิ่มขึ้นกว่า 900.000 ล้านบาทในปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี 2565)

 

ดูเหมือนผู้คนในสังคมไม่ได้ตื่นเต้นกับพัฒนาการข้างต้นนัก ด้วยภาพเชิงเปรียบเทียบ ซับซ้อน และซ้อนทับกว่าในอดีต ไม่ว่ากรณี ปตท. เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังวิกฤตการณ์ 2540 ธุรกิจค้าปลีกไทยขยายตัวครั้งใหญ่ ภายใต้แผนการครอบงำกิจการที่เคยอยู่ในมือต่างชาติ จนถึงยุคพุ่งแรงธุรกิจพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกอีกขั้น จะพบว่าอเอสซีจีเพิ่งตั้งใจขยายตัวอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ สินทรัพย์ขยับอย่างรวดเร็ว จากระดับ 600,000 ล้านบาท (สิ้นปี 2562) เพิ่มปีละราว 100,000 ล้านบาท จนมาถึงระดับปัจจุบัน (900,000 ล้านบาท) ใช้เวลาเพียง 3 ปี สอดคล้องกับงบฯ ลงทุนซึ่งแสดงไว้ (ข้อมูลนำเสนอ) ที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดียวกันเกือบ 300,000 ล้านบาท และมีหนี้สินมากที่สุดเท่าที่มีการนำเสนอไว้ (12 ปี) เกือบ 300,000 ล้านบาท เป็นที่รู้กันว่าเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับโครงการในประเทศเวียดนาม

นั่นคือ Long Son Petrochemical Complex (LSP) อันที่จริงเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549 กว่าจะมาเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลานานทีเดียว จากเริ่มต้นเอสซีจีถือหุ้น 46% ผ่านมาหลายปี (2551) จนกลายเป็นผู้ถือหุ้น 100% จากนั้นอีกราวทศวรรษ การก่อสร้างจึงเริ่มต้น

“โครงการปิโตรเคมีครบวงจรใหญ่สุดในเวียดนาม ฐานผลิตสำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ผลิตนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ป้อนตลาดโลก ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว” ถ้อยแถลงล่าสุด (อ้างแล้ว) ว่าไว้เป็นหนึ่งในแผนการสำคัญ

และเน้นว่า “อยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่างๆ ภายในโรงงาน เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ต่อไป”

 

จังหวะจากนี้ไป แม้เอสซีจีมีแผนการสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างแท้จริง โดยเฉพาะที่เรียกว่า SCG Greenery แต่ได้แสดงแผนการด้วยความระแวดระวัง เมื่อพิจารณาจากงบฯ ลงทุนที่ลดลง

หากโฟกัสกิจการจากภายใน มีปรับตัวช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นกัน มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการการครั้งใหญ่ หลังยุค ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินฯ 2530-2560 ประธานกรรมการเอสซีจี 2541-/2561) เปิดกว้างกว่ายุคใดๆ ผู้มาใหม่ มีประสบการณ์กว้างขวาง ทั้งอดีตผู้บริหารนโยบายการเงิน-ตลาดทุน และการค้าของรัฐ แวดวงการศึกษาวิชาการบริหารธุรกิจ ผู้บริหารกิจการระดับโลก ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ คือกลุ่มผู้บริหารจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย ขณะเดียวกัน ขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จากผู้นำเอสซีจีคนปัจจุบันสู่ผู้นำคนใหม่

อีกปรากฏการณ์ สะท้อนการปรับตัวครั้งสำคัญ ด้วยการแผนใหญ่ นำกิจการในเครือข่ายเข้าตลาดหุ้นอย่างเป็นขบวน

แม้ว่ามีบางกิจการในเครือข่ายอยู่ในตลาดหุ้นมาสักพักแล้ว แต่แผนการใหม่อย่างแท้จริง เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะรวมแผนการอันซับซ้อนกรณีหนึ่งด้วยก็ได้ เกิดขึ้นในปี 2561 เมื่อเอสซีจีควบรวมกิจการเซรามิกทั้งหมด โดยยึดฐานะ TGCI บริษัทในตลาดหุ้น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO

ที่ถือว่าตั้งหลักไมล์ คือกรณีบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP : เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี 2563 ถือเป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จในฐานะกิจการที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

ตามมาด้วย บริษัท เอสซีจีเคมีคอลส์ จำกัด (มหาชน) หริอ SCGC แผนการที่ใหญ่กว่า เดิมพันที่สูงกว่า เปิดฉากขึ้นเมือปลายปี 2565 แต่ได้รีรอจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีการเปิดเผยว่า จะรอจังหวะในปลายปีนี้ ด้วยเชื่อว่าสถานการณ์เกี่ยวข้องจะดีขึ้น

และล่าสุดมีแผนการใหม่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีก “เตรียม SCG Decor เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ผู้นำตลาดอาเซียนด้านวัสดุตกแต่งผิวและสุขภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม Smart Bathroom โดยมูลค่าตลาดอาเซียนมีโอกาสโตสูงถึง 78,000 ล้านบาท ในปี 2569” (อ้างจากถ้อยแถลงผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2566)

 

ว่าด้วยกิจการบุคลิกพิเศษอันน่าทึ่ง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (SCG) บริษัทแม่เครือข่ายธุรกิจเก่าแก่ มั่นคง และเติบใหญ่อยู่ในตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2518 (ภายใต้ชื่อย่อ SCC) จากทุนจดทะเบียนเพียง 740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างจำกัดมากๆ แม้ปัจจุบันระบุว่า มีทุนจดทะเบียน 1,600 ล้านบาท แต่ชำระแล้วเพียง 1,200 ล้านบาท ขณะเดียวกันเอสซีจีจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย นับตั้งแต่ยุคใกล้ ต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ ได้จ่ายเงินปันผลไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท

การนำกิจการเข้าตลาดหุ้นอย่างเป็นขบวน เชื่อว่าเหตุปัจจัยเชิงบวกหลายประการ หนึ่งในนั้น การบริหารการเงินอย่างคล่องตัวและยืดหยุ่น สามารนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นกู้ SCC ได้เปิดจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในหลายปีมานี้ รวมๆ กันแล้วนับแสนล้านบาท

ในอีกมิติหนึ่ง บริหารจัดการอย่างสมดุลมากขึ้น เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สะท้อนความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย และเงินบาทพอสมควร มองผ่านดัชนีสำคัญ (อ้างจากข้อมูลนำเสนอ) เอสซีจี กับหนี้สิน จากหุ้นกู้ มีมากกว่าเงินกู้ยืมธนาคาร ในสัดส่วน 66/34 ทั้งนี้ เป็นเงินบาทมากกว่าเงินตราต่างประเทศอื่น ในสัดส่วนสูงถึง 73/37

ในความท้าทาย ย่อมมีความเชื่อมั่น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com