ยุคใหม่ฝั่งเจ้าพระยา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ทิศทางที่เป็นไปด้วยแรงขับเคลื่อนเต็มกำลัง ผ่านช่วงเวลาซับซ้อนและสับสน เพื่อพลิกโฉมเมืองหลวงเชื่อมโยงกับแม่น้ำสำคัญ

ภาพสะท้อนจากกระแสข่าวครึกโครม ให้ภาพ ICONSIAM ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย แม้ช่วงแรกๆ เผชิญสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญแห่งหนึ่งของการมาเยือนกรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษที่แล้ว (ปี 2555) งานแถลงข่าวใหญ่แห่งปี โครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use) มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ปรากฏภาพผู้ร่วมงานอย่างสำคัญ

ฝ่ายหนึ่ง-ธนินท์ เจียรวนนท์ (ขณะนั้นประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (บริหารโดยบุตรีของธนินท์ เจียรวนนท์) และ ศุภชัย เจียรวนนท์ (ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหาร ทรูคอร์เปอเรชั่น ปัจจุบันคือประธานกรรมการบริหารเครือซีพี)

กับอีกฝ่ายหนึ่ง ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์) พนัส สิมะเสถียร (ประธานกรรมการบริหาร สยามพิวรรธน์) และ บันเทิง ตันติวิท (ประธานกลุ่มเอ็มบีเค ผู้ถือหุ้นใหญ่ สยามพิวรรธน์)

เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างซีพี-เครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่สุดของสังคมไทย กับสยามพิวรรธน์-กลุ่มธุรกิจใหม่น่าเกรงขาม ด้วยมีรากฐานเชื่อมโยงยาวนาน ในจังหวะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองไทย ตามมาด้วยความวุ่นวายทางการเมือง (ปี 2556-2557) ให้พลิกผันจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สู่การรัฐประหารและรัฐบาลสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน

ทว่าพลังแห่งการพลิกโฉมกรุงเทพฯ ด้วยความเชื่อมั่น คงอยู่อย่างไม่สั่นคลอน สะท้อนผ่านโครงการใหญ่ๆ โดยนักลงทุน “ขาใหญ่” อีกหลายรายเป็นระลอกคลื่นต่อจากนั้น โดยภาพที่น่าติดตามเป็นพิเศษ อยู่ที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ด้วยความเคลื่อนไหวธุรกิจใหญ่ไทยอันทรงอิทธิพลทั้งสิ้น

 

ช่วงเดียวกันนั้น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เปิดตัวขึ้น (2555) “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…โดยการนำท่าเรือสินค้าระหว่างประเทศแห่งแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 มาปรับปรุงและตกแต่งเพิ่มเติม…”

สาระที่ปรากฏ คล้ายๆ โบรชัวร์ (Brochure) (อ้างจาก https://www.assetworldcorp-th.com/th/) โดยเครือข่ายธุรกิจใหญ่อีกรายในนาม กลุ่มทีซีซี มี เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำ ผู้กว้านซื้อที่ดินสะสมไว้จำนวนมาก นี่คือแผนการหนึ่งในการพัฒนา จะถือเป็นโครงการแรกๆ ริมฝั่งเจ้าพระยาในยุคใหม่ก็ว่าได้

เครือข่ายทีซีซี กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี มีตำนานและเรื่องเล่าเพิ่งผ่านมาไม่นานนัก

“…เจริญเกิดและเติบโตในย่านธุรกิจทรงวาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไชน่าทาวน์ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ คุณเจริญได้เริ่มทำการค้าตั้งแต่เยาว์วัย… จากนั้นได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่” (อ้างจาก http://www.tccholding.com/)

ขณะอีกเวอร์ชั่น ผมเคยนำเสนอไว้

“เจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างฐานธุรกิจจากระบบเศรษฐกิจเก่า มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ เกี่ยวกับสัมปทานสุรา ตั้งแต่เมื่อทศวรรษ 2530 สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างมากมาย… และมีความพิเศษสามารถครอบครองทรัพย์สินเก่าแก่ไว้ในมือมากที่สุดก็ว่าได้ กลายเป็นเรื่องราวสีสันว่าด้วยนักธุรกิจหน้าใหม่…มีโอกาสสัมผัสร่องรอยและกลิ่นอายสายสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์”

ขณะ ICON SIAM กับ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ เป็นภาพพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานกว่ามาก จากยุคต้นสงครามเวียดนาม กับพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังสระปทุม เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสำคัญในเวลานั้น โดยเฉพาะ กระทรวงการคลัง และ สำนักงานทรัพย์สินฯ อีกทั้งร่วมมือกลุ่มธนาคารชั้นนำของไทย จนมาถึงการพัฒนาโครงการสำคัญๆ จากศูนย์การค้าด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่-สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ในช่วงกว่า 40 ปีก่อนหน้านั้น และมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ กับเปิดศูนย์การค้าสยามพารากอน (2548)

ICON SIAM ปักหลักฝั่งธนบุรี ตรงข้ามฝั่งพระนคร เป็นย่านการค้าเก่ายุคอาณานิคม มีทั้งสีสันและเรื่องราวกรุงเทพฯ ซึ่งผ่านกาลเวลา ทั้งธุรกิจใหม่ผุดขึ้น และธุรกิจดั้งเดิมคงอยู่

“ความร่วมมือทางธุรกิจ มีแรงบันดาลทางสังคมพอสมควร ความพยายามสร้างตำแหน่ง (Positioning) ของกรุงเทพฯ ให้โดดเด่น ในฐานะเมืองหลวงมีบุคลิกเชื่อมโยงกับแม่น้ำ เป็นเมืองสำคัญระดับภูมิภาค… กับความพยายามปรับโฉมเมืองใหม่ หรือ City regeneration …เป็นไปได้ว่าอาจเทียบเคียงและอ้างอิงกับกรณีสิงคโปร์ …กรณี Marina bay สร้างแรงดึงดูดใหม่ เมื่อระบบเศรษฐกิจอาเซียนหลอมรวมกันในปี 2558”

 

จากนั้นในปลายปี 2561 โฉมหน้ากรุงเทพฯ ใหม่ริมเจ้าพระยา ดูเหมือนจะคึกคัก เมื่อ ICON SIAM เปิดตัวขึ้น แต่แล้วไม่นานจากนั้น มีโรคระบาดอุบัติใหม่ทั้งโลกปะทุขึ้น มาพร้อมปรากฏการณ์เมืองใหญ่กับ Great Lockdown

ช่วงใกล้เคียงกันนั้น กลุ่มทีซีซีปรับใหญ่ นำบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าตลาดหุ้น (ปลายปี 2562) จากนั้นหนึ่งใน portfolio ขยับอีกครั้ง (ปลายปี 2563) “การกลับมาของเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ด้วยแนวคิด HERITAGE ALIVE พร้อมเรื่องสิริมหรรณพ แลนด์มาร์กใหม่ริมน้ำเจ้าพระยา”

แผนการดำเนินไปต่อเนื่อง (ปลายปี 2564) AWC มีดีล “ล้ง 1919” ของตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ริมเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ด้วยสัญญาระยะเวลายาวกว่า 64 ปี มีค่าเช่า 1,269.2 ล้านบาท ตามแผนจะมีการลงทุนเพิ่มอีก 2,166.8 ล้านบาท “…พัฒนาสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์…เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพระดับโลก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…” ผู้เช่าว่าไว้อย่างนั้น จะดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นปี 2568

ว่าด้วยดีล มีมิติน่าสนใจเกี่ยวกับครอบครัวธุรกิจเชื้อสายจีนต่างยุค ระหว่างตระกูลเก่าแก่ฝั่งรากเหง้าก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับรุ่นหลังๆ เติบโตหลังยุคสงครามเวียดนาม ห่างกันกว่าศตวรรษ

 

ระหว่างนั้น ICON SIAM เฟส 2 เปิดฉากขึ้นใกล้ๆ กัน ด้วยโครงการ ด้วยแบบฉบับของตนเอง สร้างใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมทันสมัย ชื่อ ICS เพื่อรองรับฐานลูกค้ากว้างขึ้น ท่ามกลาง “ความเป็นเมือง” ฝั่งธนบุรี ขยายตัวด้วยจังหวะเร่ง ด้วยอิทธิพลหลักมาจาก ICON SIAM ก็ว่าได้ ICS เริ่มบริการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำเร็จโดยรวม และการก้าวผ่านพ้นช่วงวิกฤต COVID-19

อีกฝ่ายหนึ่ง ตามแบบฉบับทีซีซี ว่าด้วยความเคลื่อนไหวล่าสุดของ AWC (26 กรกฎาคม 2566) กล่าวถึง The Plaza Athenee Nobu Hotel and Spa Bangkok ซึ่งกำลังพัฒนามาจากสำนักงานดั้งเดิม The East Asiatic Company (EAC) อาคารอนุรักษ์ กิจการค้ายุคอาณานิคมของชาวเดนมาร์ก สถาปัตยกรรมเรอเนสซองส์ ออกแบบโดย Annibale Rigotti สถาปนิกชาวอิตาเลียนในยุคนั้น (2434) ตั้งอยู่ในซอยโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ติดกับท่าเรือโอเรียนเต็ล แทบจะเรียกกว่าอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กับ ICON SIAM

ในแผนการใหญ่ AWC เข้าซื้อหุ้นกิจการ Hotel Plaza Athenee New York โรงแรมเก่ามีอายุน้อยกว่า EAC กว่า 3 ทศวรรษ (2470) ตั้งอยู่ใจกลางแมนฮัตตัน “ด้วยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ 7,789 ล้านบาท อีกทั้งได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของแบรนด์ Plaza Athenee (หมายเหตุผู้เขียน-เครือข่ายโรงแรมเก่าแก่ของฝรั่งเศส-Hotel Plaza Ath?n?e) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย” โดย The Plaza Athenee Nobu Hotel and Spa Bangkok “เป็นศูนย์กลางของโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาของ AWC ภายใต้ River Journey Project”

ไม่ว่าจะอยู่สถานการณ์ใดในสังคมไทย “ขาใหญ่” กล้าเสี่ยง และแสวงหาโอกาสได้เสมอ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com