‘บางจาก’ ในวิวัฒนาการ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีดีลใหญ่ บางจาก มองกว้างๆ อ้างอิงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ได้สะท้อนวิวัฒนาการทางธุรกิจ

กรณีเกิดขึ้นเมื่อต้นปี (11 มกราคม 2566) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อตลาดหลักทรัพย์ BCP หรือเรียกสั้นๆ ทั่วไปว่า “บางจาก”) ได้ลงนามในสัญญาชื้อหุ้นของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อ ESSO) จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65.99% – ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd.

เป็นดีลซื้อกิจการมูลค่าราว 55,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เกี่ยวข้อง คือโรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรล/วัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง

ผ่านมาครึ่งปี ได้ผ่านอีกขั้นตอน เมื่อบางจากรายงาน (19 กรกฎาคม 2566) ว่าได้รับ “ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำหรับการได้มาซึ่งหุ้นในบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)”

ภาพบางจากไม่นานจากนี้ มองกว้างๆ จะเปลี่ยนแปลงในเชิงขยายขนาดธุรกิจ อ้างอิงกับข้อมูลซึ่งแถลงไว้คร่าวๆ คราวนั้น

“…ทำให้บางจากมีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรล/วัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง สามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น… และการให้บริการด้านการตลาดที่ครอบคลุมและนำเสนอบริการให้กับลูกค้าได้ยิ่งขึ้นผ่านสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ…”

(คัดมาบางตอน จากหัวข้อข่าว “บางจากฯ ประกาศซื้อหุ้นและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของเอสโซ่ประเทศไทย” 12 มกราคม 2566)

 

ในเวลานั้น ผมเองได้ฟันธง ดีลข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ “ว่าด้วยโครงสร้างทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง…” โดยเน้นว่า “ภาพรวมกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งประเทศคงเดิม เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศมีจำนวนเท่าๆ เดิม”

ส่วนประเด็นสำคัญ ทำให้หน่วยงานรัฐบางแห่งเข้าเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่าด้วย “ผู้เล่นที่ลดจำนวนลง” นั้น ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกัน

“เชื่อว่าไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่นกัน เป็นมิติที่แตกต่างจากกรณีธุรกิจค้าปลีกทั่วไป และธุรกิจสื่อสารไร้สาย เนื่องด้วยแบบแผนธุรกิจเฉพาะของบางจาก ไม่ว่าจะมีขนาดจะเล็กหรือใหญ่ ในห่วงโซ่เฉพาะโรงกลั่น-ค้าปลีกน้ามันนั้น ต้นทางต้นน้ำมี ‘ขาใหญ่’ ระดับโลก เป็นผู้กำกับ โดยเฉพาะการควบคุมวงห่วงโซ่สำคัญตั้งแต่สำรวจและขุดเจาะ กับมีบทบาทเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันดิบ”

ดังนั้น ข้อเขียนนี้จึงไม่สนใจ “เงื่อนไขการควบรวมกิจการ” ของ กขค.อย่างจริงจัง

 

สําหรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ข้อมูลพื้นฐานระบุว่า มีกำลังการกลั่นเป็นอันดับสองของอาเซียน เป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์

มีกำลังการผลิตราว 1.235 ล้านบาเรล/วัน (อ้างจากบทวิเคราะห์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา) โดย 7 บริษัท ทั้งนี้ ปตท. ถือเป็น “ผู้เล่น” รายใหญ่ “มีกำลังการกลั่นรวมกัน 770,000 บาร์เรล/วัน…” (ข้อมูลของ ปตท.เอง) เกี่ยวข้องถือหุ้นใหญ่บริษัทสำคัญๆ ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แค่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนมือเป็นของบางจาก

ส่วนเครือข่ายบริการน้ำมันทั่วประเทศไทย โดยรวมมีจำนวนคงเดิม เพียง “ผู้เล่น” หลัก ลดลง 1 รายจากทั้งหมด 6 ราย โดย ปตท.ยังคงเป็นผู้นำ มีเครือข่ายสถานีบริการในประเทศ มากกว่า 2,000 แห่ง

มีผู้ตามอย่างกระชั้นชิดขึ้นมาอีก จากเดิมมีบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PT มาเป็นบางจากด้วย จากดีลซื้อ ESSO จะทำให้มีจำนวนเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันใกล้เคียงกัน ในระดับกว่า 2,000 แห่งเช่นกัน ขณะเครือข่ายบริษัทต่างชาติลดเหลือ 2 ราย (Shell และ Caltex) ซึ่งมีรวมกันเหลือแค่ประมาณ 1,000 แห่ง โครงสร้างค้าปลีกน้ำมันโดยมีธุรกิจไทยเป็นผู้นำตลาด เป็นมานานราว 3 ทศวรรษแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ สะท้อนจากกรณีข้างต้น น่าจะว่าด้วยวิวัฒนาการ

 

จับภาพจากยุคอาณานิคมเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว เมื่อ Shell (ตั้งแต่ยังไม่เป็น Royal Dutch Shell) มาถึงราชอาณาจักรไทย (ปี 2435) ตามมาคู่แข่งรายสำคัญเวลานั้น ESSO ในนาม Standard Oil of New York (ปี 2437) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

จากยุคนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้อง ทั้งสองบริษัทจึงมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย ในความจำเป็นต้องพึ่งพิงโลกตะวันตก จนผ่านมาถึงยุคต้นสงครามเวียดนาม

ความคึกคักยกระดับขึ้น เมื่อมีการลงทุนพื้นฐานใหม่ๆ จากโลกตะวันตก Shell ร่วมลงทุนในกิจการโรงกลั่นน้ำมันในปี 2511 ขณะ ESSO จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา (2514)

สถานการณ์ผันแปรค่อนข้างรวดเร็วในช่วงปลายและหลังสงครามเวียดนาม ด้วยความหวั่นไหวของธุรกิจโลกตะวันตก เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในการก่อตั้ง ปตท. “ปี 2521 (29 ธันวาคม) จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์อันยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี …ภายใต้โครงสร้างถูกควบคุมโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ” อย่างที่เสนอไว้

ปรากฏการณ์ช่วงเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นไปทั้งภูมิภาค ในช่วงเวลาเดียวกันกับกระแสการก่อตั้ง “กิจการน้ำมันแห่งชาติ” เกิดขึ้น ตามแนวทาง “ความมั่นคงทางพลังงานของชาติ” เริ่มด้วย อินโดนีเซียก่อตั้ง Pertamina ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในช่วงปี 2511-1514 ตามมาด้วยมาเลเซีย ก่อตั้ง Petronas (ปี 2517)

จะว่าบางจากก่อตั้งขึ้นช่วงเดียว ปตท.ก็ว่าได้ ที่สำคัญอยู่ภายใต้อิทธิพลและบทบาทเชื่อมโยงกับ ปตท. เปิดฉากอย่างจริงจังในปี 2527 เมื่อเข้าครอบครองกิจการโรงกลั่นของเอกชน (ซัมมิตอินดัสเตรียล) มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ช่วงต้นๆ 3 ราย คือกระทรวงการคลัง ปตท. และธนาคารกรุงไทย

ในช่วงทศวรรษมานี้เอง กิจการพลังงานแห่งชาติในภูมิภาค เติบโตขึ้นมาก เชื่อมต่อห่วงโซ่อย่างขนานใหญ่ กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจระดับโลก เฉพาะประเทศไทย อ้างอิงบทบาท ปตท. ขณะบางจากค่อยๆ ออกจากร่มเงา ปตท. หากโมเดลธุรกิจดูเป็นไปในทำนองเดียวกัน

เมื่อมองโครงสร้างผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบางจาก เหมือนเป็นกิจการสำรอง ในโมเดลตั้งต้น “กิจการพลังงานของรัฐ”

 

ภาพใหญ่ในห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานระดับโลก ทั้ง ปตท.และบางจาก มีบทบาทค่อนข้างมาก อยู่ในช่วงกลางๆ ว่าไปแล้ว ช่วงสุดทางต้นน้ำ-ปลายน้ำ มีมูลค่าเพิ่มมากๆ ยังไปไม่ค่อยถึง ท่ามกลางวิวัฒนาการ เทียบเคียงธุรกิจระดับโลกมากขึ้น มีบทเรียน มีความรู้ทัดเทียมกันมากขึ้น ขณะมีโอกาสและความเสี่ยงเชื่อมโยงกันด้วย

อีกด้านหนึ่ง ดีลบางจาก-ESSO สะท้อนบทเรียนสำคัญเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยแถลง ESSO โดยบริษัทแม่-ExxonMobil (12 มกราคม 2566) จากสาระตั้งใจให้มีความชัดเจน

“การขายหุ้น ครอบคลุมถึงโรงกลั่นน้ำมันศรีราชาและเครือข่ายสถานีบริการตราเอสโซ่ในประเทศไทย ExxonMobil ยังคงจัดหาผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและผลิตภัณฑ์เคมีในประเทศไทยต่อไป และศูนย์ธุรกิจระดับโลกกรุงเทพฯ (Bangkok Global Business Center) กิจกรรมสํารวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ได้รับผลกระทบจากการขายหุ้น”

ไปถึงอีกตอนซึ่งขยายความอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ExxonMobil ใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านการผลิตทั่วโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซน้อยลง และผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันก็ขายสินทรัพย์ที่มีผู้อื่นเห็นศักยภาพในการสร้างมูลค่ามากขึ้น”

น่าจะเป็นทิศทางหนึ่งแห่งวิวัฒนาการ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com