ซีพีเอฟ – กรมป่าไม้ สานต่อโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ต่อยอดสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

“จากภูผา สู่ป่าชายเลน สร้างความมั่นคงทางอาหาร” แนวคิดของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สร้างความตระหนักสู่พนักงานมีส่วนร่วมอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วยการลงมือทำ ผ่านการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย มุ่งมั่นสนับสนุนนโยบายของภาครัฐปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติอย่างยั่งยืน

หนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ใกล้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของการทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภคของประชาชน ซีพีเอฟดำเนินโครงการในรูปแบบ 3 ประสาน โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ และชุมชน ขับเคลื่อน “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้วรวม 7,000 ไร่ คิดเป็นจำนวนต้นไม้ที่ปลูก 1,394,200 ต้น 

นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ และทำหน้าที่หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ป่าเขาพระยาเดินธง กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ถือเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่าให้กับผืนป่าอื่นๆ ของประเทศไทย ด้วยการนำรูปแบบของการฟื้นฟูป่า 4 รูปแบบมาใช้ คือ การปลูกป่าแบบพิถีพิถัน การปลูกเสริมป่า การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ และปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ผืนป่าแห่งนี้ ฟื้นตัวได้เร็วกว่าปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และเป็นการปลูกป่าที่มีการติดตามผลและดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟและกรมป่าไม้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ เพื่อร่วมกันดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนชุมชนทำโครงการปลูกผักปลอดสารวิถีธรรมชาติ และโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืด ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ส่งเสริมชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ล่าสุด โครงการดังกล่าว ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ให้ได้รับ “รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติการปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ” ร่วมขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซีพีเอฟต่อยอดจากการฟื้นฟูป่า สนับสนุนชุมชนทำ “โครงการปลูกผักปลอดสารวิถีธรรมชาติ” และ “โครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืด” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

ปัจจุบัน โครงการปลูกผักปลอดสารวิถีธรรมชาติ มีสมาชิก 24 คน ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน 2 ตำบล มีทั้งที่ปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งจำหน่าย ปลูกผักเพื่อจำหน่าย และปลูกเพื่อบริโภคและเก็บเมล็ดพันธุ์ ชนิดและประเภทของผักที่ปลูก รวม 97 ชนิด เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว กระเจี๊ยบพริกขี้หนู ผักไชยา พริกสด ดอกแค ตะไคร้ มะเขือพวง ถั่วพู ผักตลาดและผลไม้ มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากสมาชิก รวม 47 ชนิด เข้าสู่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน เพื่อแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกและเกษตรกรรายใหม่นำไปปลูกขยายพันธุ์แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ส่งคืนธนาคารฯ ทำให้ชุมชนยืนได้ด้วยตัวเอง เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด ชุมชนมีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 

โครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืด เป็นการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่รอบเขาพระยาเดินธง เพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืดอาทิ ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานิล และนำไปปล่อยลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บริเวณพื้นที่ห้วยงิ้ว ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาสมดุลระบบนิเวศ ปัจจุบันมีสมาชิกในโครงการ 14 รายที่ได้รับการสนับสนุนการอบรมให้ความรู้ รวมถึงจัดหาวัสดุอุปกรณ์ค่าใช้จ่ายในการผสมเทียมปลา และการดูแลอนุบาลลูกปลาให้มีความแข็งแรง (ขนาดเฉลี่ยประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร) เพื่อให้มีอัตราการรอดสูง ก่อนนำมาปล่อยลงเขื่อนฯ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ได้จัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ปล่อยปลาลงเขื่อนฯ โดยตั้งแต่ปี 2563 – 2566 มีจำนวนลูกปลาน้ำจืดที่ปล่อยเข้าสู่ระบบนิเวศทางธรรมชาติมากกว่า 1 ล้านตัว.