Tesla x Central

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยปรากฏการณ์ Tesla Supercharger ปักหลัก ณ เครือข่ายเซ็นทรัล

การมาของ Tesla ถือเป็นปรากฏการณ์สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย ไม่เพียงสะท้อนยุคใหม่ยานยนต์เริ่มต้นอย่างจริงจังในประเทศไทย

หากมีอีกบางมิติอย่างที่ว่าไว้ “ปรากฏการณ์ Tesla ในสังคมไทยส่งท้ายปี 2565 ให้ภาพกระแสอเมริกันคงมีอยู่ เป็นพัฒนาการตามจังหวะ เป็นระยะๆ ต่อเนื่องจากยุคหลังสงครามเวียดนาม อิทธิพลอเมริกันในวิถีชีวิตสมัยใหม่ ฝังรากลึกและพัฒนาต่อเนื่องในสังคมไทย ผ่านสินค้า บริการ และระบบ เป็นวงจรอันซับซ้อนพอสมควร ในมิติกว้าง ว่าด้วยอิทธิพลสหรัฐในสังคมไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ไปสู่มิติที่ลึกและกว้าง ในสิ่งที่เรียกว่าไลฟ์สไตล์อเมริกัน” (มติชนสุดสัปดาห์ ธันวาคม 2565)

ตั้งแต่การเปิดตัวเมื่อต้นธันวาคม 2565 ผ่านมาครึ่งปี 2566 คาดว่า Tesla ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วราว 4,000-5,000 คัน

พร้อมๆ กับแผนการติดตั้ง Supercharger เป็นไปอย่างคึกคักพอสมควร จนถึงขณะนี้ มีทั้งหมด 7 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่อาณาบริเวณกรุงเทพฯ มีหัวชาร์จรวมกัน 54 ที่

แรกๆ ลุ้นกันอย่างตื่นเต้นว่า จะปักหลักที่ไหนกันบ้าง

จากความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล มีถึง 6 ในทั้งหมด 7 แห่ง (โปรดพิจารณาไทม์ไลน์) มีหัวชาร์จรวมกัน 45 จากทั้งหมด 55 ที่

ภาพจากนี้ จึงคาดกันว่า Supercharger จะปรากฏขึ้นในเครือข่ายศูนย์การค้าลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มอีกเป็นระยะๆ

 

ไม่มีข่าวเล็ดลอด ไม่มีรายละเอียดว่าด้วยดีลข้างต้น แต่ที่แน่ๆ เป็นความร่วมมือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ว่าอย่างง่าย อย่างน้อยเป็นไปตาม Tesla ว่าไว้

“สถานที่ติดตั้งสถานีชาร์จที่เหมาะสมที่สุดจะสามารถรองรับแผงจอดรถแต่ละแห่งได้ตั้งแต่แปดจุดขึ้นไป และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านค้า ห้องน้ำ และ Wi-Fi … การคัดเลือกไซต์ขึ้นอยู่กับความต้องการในการขยายตลาดตลอดจนเส้นทางและจุดหมายปลายทางยอดนิยม” Tesla Thailand นำเสนอไว้ในเรื่อง “เป็นเจ้าของจุด Supercharger” (https://www.tesla.com/th)

เชื่ออีกว่า กรณีกับเครือข่ายเซ็นทรัล มีความหมายกว้างกว่านั้น เป็นดีลเป็นเรื่องเป็นราว สะท้อนมุมมองในเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ได้ในระดับหนึ่ง

เท่าที่สังเกตเครือข่าย Supercharger ในปัจจุบัน เกือบทั้งหมด (5 ใน 6 แห่ง) อยู่ในเครือข่ายธุรกิจ บริหารโดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ( มหาชน) หรือ CPN ธุรกิจแกนของกลุ่มเซ็นทรัล

“เป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ครบวงจรในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Collaboration and Co-Creation)…” (https://www.centralpattana.co.th/)

แต่มีแห่งหนึ่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก – Central Festival Pataya Beach ดำเนินการโดยบริษัทอื่นๆ ในเครือเซ็นทรัล ความเป็นไปเช่นนี้ พอจะตีความว่าดีลนี้เป็นดีลใหญ่ ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัลในภาพรวม

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นเครือข่ายธุรกิจไทย ระดับโลกไปแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกแบบฉบับไลฟ์สไตล์ ในฐานะมีเครือข่ายกว้างขวาง ทั้งในระดับภูมิภาค และภาพพื้นสำคัญของโลก-ยุโรป จะว่าด้วยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และว่าด้วยมุมมองในโลกธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลย่อมอยู่ในเรดาร์เสมอ

ที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลกับสังคมไทยมีพัฒนาการอย่างน่าทึ่ง ในมิติที่น่าสนใจ “เซ็นทรัลกับสังคมสมัยใหม่ ภาพใหญ่พัฒนาการธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยในช่วง 5-6 ทศวรรษ” ดังเคยนำเสนอไว้อย่างต่อเนื่อง

จากยุคก่อตั้ง “ธุรกิจร้านขายหนังสือต่างประเทศเล็กๆ ที่สี่พระยา จุดหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย พัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเวลาต่อมา เชื่อมโยงกับสังคมธุรกิจไทยกำลังขยายตัว ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก ปรากฏกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ (จากหนังสือต่างประเทศ) ของพวกเขา เชื่อมโยงวิถีชีวิตให้มีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากขึ้น”

และแล้วเปิดฉากห้างสรรพสินค้า ยึดพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ในยุคสงครามเวียดนาม ขยายเครือข่ายสู่หัวเมืองใหญ่ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู มุ่งสู่ภูมิภาคและโลก เมื่อระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันมากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์

ความเป็นไป บทเรียน และแผนการธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล สะท้อนมุมมองในเชิงวิเคราะห์สังคมไทย ในหลายแง่มุม ทั้งในภาพรวม แนวโน้ม และโอกาสทางธุรกิจ

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มเซ็นทรัล คงไม่ใช่แค่ดีลหนึ่งๆ หากเป็นสร้างสายสัมพันธ์ทางวธุรกิจ สำหรับ Tesla ผู้เพิ่งเข้ามาสัมผัสสังคมไทย ย่อมมีเส้นทางซึ่งสามารถเรียนรู้ เข้าถึง และปรับตัว เพื่อตอบสนองแผนการธุรกิจได้อย่างดี อย่างรวดเร็ว

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจแห่งยุค กับ เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors, Inc.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว กับความพยายามพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เป็นแผนการซึ่งเข้ากับจังหวะ เมื่อโลกตะวันตกเป็นผู้นำในความพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิล สู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ จนเป็นยุทธศาสตร์และแผนการขยายวงไปทั่วโลก

อีลอน มัสก์ โดดเด่นขึ้นพร้อมๆ กับรุ่งอรุณแห่งยานยนต์ไฟฟ้าในโลก เมื่อเปิดตลาดรถไฟฟ้าโมเดลแรก (ปี 2555) สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ สร้างกระแสใหม่ในระดับโลก เดินหน้าไปอีกขั้น ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อตลาดที่กว้างขึ้น (ปี 2560 และ 2563) ด้วยโมเดลที่มาจำหน่ายในเมืองไทยในเวลาต่อมาด้วย

จากจุดตั้งต้นการผลิตในสหรัฐอเมริกา (ปี 2453) ได้ขยาย และข้ามพรมแดนไปยังอีกซีกโลก เป็นที่แรก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2563) เข้ากับจังหวะและพัฒนาที่สำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ ว่าด้วยพัฒนาการยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีการพัฒนาและวางรากฐานอย่างจริงจังมานานนับทศวรรษ ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ จนกลายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก

แผนการ อีลอน มัสก์ กับ Tesla สะท้อนมุมมองในภาพกว้าง (perspective) และแบบแผนทางธุรกิจซึ่งเชื่อมโยงจังหวะ ไม่ว่าจะเป็น “ชิ้นส่วน” แห่งโอกาส จะเล็กหรือใหญ่ จนมาถึงตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งเพิ่งโหมโรง ภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ นั่นคือความสัมพันธ์ว่าด้วยการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน กับขบวนการบุกเบิกอย่างแข็งขันโดยรถยนต์ไฟฟ้าจีน Tesla เดินตามช่องนั้น เปิดทางส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจาก Gigafactory Shanghai เป็นเส้นทางสะดวกสู่ไทย

กลุ่มเซ็นทรัล กับเครือข่ายศูนย์การค้าทันสมัยใหญ่ที่สุดในสังคมไทย ครอบคลุมทั้งใจกลางเมืองหลวงและชานเมือง เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และหัวเมืองใหญ่ มีแผนการขยายตัวเชิงภูมิศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงวิถีชีวิตสมัยใหม่ ด้วยมุมมองกว้าง เชื่อมโยงบริบท เข้ากับโอกาสเช่นกัน

สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว น่าจะมีความหมายกว้างทีเดียว กว้างกว่าเสียงสะท้อนถึงการมา Supercharger แห่งแรก ที่ว่า

“นับเป็นอีกครั้งที่แบรนด์ดังระดับโลกได้เลือกมาปักหมุดเปิดตัวที่เซ็นทรัลเวิลด์ ตอกย้ำความเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกอันดับหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ …พร้อมตอบรับเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น…” (https://www.centralworld.co.th/)

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com