อีกยุค ‘ซีพี’ ปลายทางสำคัญ ‘ธนาคารไร้สาขา’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ดีลสำคัญๆ ไม่เพียงพลิกโฉมภาพรวมทางธุรกิจ หากเป็นอีกก้าวสำคัญของเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในสังคมไทย

ช่วงเวลากระชั้นที่ผ่านมา ด้วยความเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นไปอย่างน่าสนใจยิ่งนัก

ถือว่ายังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านซีพี ผลัดเปลี่ยนรุ่นการบริหารครั้งใหญ่ตระกูลเจียรวนนท์ เมื่อเข้าสู่วัย 80 ในปี 2562 ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ประกาศวางมือลงจากตำแหน่งประธาน จากนั้นจึงทยอยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทสำคัญๆ ในเครือซีพี โดยเฉพาะกิจการหลักซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น

ขณะเดียวกันได้แต่งตั้ง สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรคนโตในฐานะประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนใหม่ นั่งประธานกรรมการแทน

พร้อมๆ กับบทบาทอันแข็งขันของบุตรคนสุดท้อง-ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารซีพี

ช่วงเวลาเพียง 3 ปี ซีพีได้ก้าวผ่านอีกรุ่น สู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ด้วยปรากฏไทม์ไลน์อันตื่นเต้น

 

20 กุมภาพันธ์ 2566 – บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เดินเรื่องเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT

22 กุมภาพันธ์2566-เพื่อมิให้สับสน จึงมีถ้อยแถลงตามมา

“ขอยืนยันว่า การดำเนินธุรกิจห้างค้าส่งยังคงใช้ชื่อแบรนด์ ‘แม็คโคร’ (MAKRO) และการดำเนินธุรกิจห้างค้าปลีกยังคงใช้ชื่อแบรนด์ ‘โลตัส’ (Lotus’s) เช่นเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทดังกล่าว ยังต้องรอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2566 และคาดว่าจะทำการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทภายในไตรมาส 2 นี้…”

1 มีนาคม 2566 – DTAC และ TRUE ได้ดำเนินการควบรวมกิจการเป็นบริษัทใหม่เสร็จสมบูรณ์ โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

2 มีนาคม 2566 “เปิดบทใหม่ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ สู่โทรคมนาคม-เทคโนโลยี” หัวข้อถ้อยแถลงอรรถาธิบายความตามมา

 

อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปตั้งต้น เป็นเรื่องราวต่อเนื่องมาจากดีลครึกโครม ตั้งแต่ต้นปี 2563 เมื่อซีพีแถลงบรรลุแผนการลงทุนซื้อกิจการเครือข่าย Tesco ในประเทศไทย และมาเลเซีย ด้วยวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

สำหรับซีพี ถือเป็นดีลสำคัญครั้งแรก ในช่วงผลัดเปลี่ยนรุ่นการบริหารครั้งใหญ่ จากเริ่มต้นค่อยๆ มาบรรจบที่ MAKRO เมื่อศุภชัย เจียรวนนท์ ได้เข้ามาดำรงประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (กุมภาพันธ์ 2563) ก่อนจะมีดีลซื้อกิจการ Tesco เพียงไม่กี่วัน จนถึงปลายปี 2564 พร้อมกับแผนการปรับโครงสร้างให้ MAKRO เป็นแกนบริษัทใหม่ ดูแลกิจการที่ซื้อมาจาก Tesco โดยมีการรีแบรนด์มาก่อนหน้าแล้ว เป็น Lotus’s

ตามมาติดๆ (22 พฤศจิกายน 2564) ดีลควบรวมกิจการครั้งใหญ่ในสังคมธุรกิจไทย ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เมื่อกิจการทั้งสอง “มีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทกัน” แผนการอย่างกระชั้น เมื่อ “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TRUE และ DTAC มีมติอนุมัติการควบบริษัท” (18 กุมภาพันธ์ 2565)

เป็นที่รู้กัน TRUE เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจของรุ่นที่ 3 ตระกูลเจียรวนนท์ โดยเฉพาะฉากตอนสำคัญ จากธุรกิจทีวีบอกรับ (โดย ศุภกิต เจียรวนนท์) จนถึงธุรกิจสื่อสารไร้สาย (โดย ศุภชัย เจียรวนนท์)

 

ทั้งสองดีลใหญ่ ล้วนผ่านขั้นตอนสำคัญใช้เวลาพอสมควร ภายใต้กลไกลอำนาจรัฐ

กรณีแรก ผ่านคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)

ส่วนดีลที่สอง ฝ่าด่านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยบทสรุปซึ่งคาดกันไว้ สะท้อนบางมิติว่าด้วยพลังและอิทธิพลธุรกิจใหญ่ในสังคมไทย

ภาพแรกใหม่ที่ปรากฏ ว่าด้วยผนวกเครือข่ายทางภูมิศาสตร์นับหมื่นแห่ง ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ กับอีกจำนวนในภูมิภาค จาก CPALL (เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุด) ถึง MAKRO (ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก)

ด้านหนึ่ง – “ภาพใหญ่เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทย กลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ อยู่ในกำมือของธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหญ่ไทยไม่กี่ราย เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ โดยเฉพาะเครือข่ายซีพีที่มีลักษณะเฉพาะ ดูมีพลังมากกว่ารายอื่นๆ”

อีกด้านหนึ่ง “มีอิทธิพลระดับภูมิภาค ด้วยธุรกิจค้าปลีกไทย จะกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนแล้ว และซีพีดูจะมีศักยภาพมากกว่าคู่แข่งรายอื่นด้วยเช่นกัน” (อ้างจากข้อเขียนของผมเอง เมื่อกลางปี 2565)

อีกภาพใหญ่ ภายใต้ทรูคอร์ปอเรชั่น (กำลังจะเปลี่ยนชื่อย่อจาก TRUE เป็น TRUEE) ในฐานะผู้นำใหม่เครือข่ายสื่อสารไร้สาย และผู้ครอบครองเครือข่ายดิจิทัลมากที่สุดในประเทศ

“…ขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล เผยทะยานสู่ผู้ให้บริการชั้นนำ พร้อมกับภารกิจดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้งสองแบรนด์ในวันนี้ คือ ทรูมูฟ เอช 33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย เร่งขับเคลื่อนโทรคมนาคม-เทคโนโลยีสร้างระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร…”

จากถ้อยแถลงทางการ เมื่อ 2 มีนาคม 2566 (อ้างไว้ข้างต้น)

 

จังหวะก้าวซีพียุคใหม่ ภายใต้ผู้นำอีกรุ่น ไม่เพียงปรากฏกลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจหลักหนึ่ง มีบทบาทมากขึ้น สามารถสร้างรายได้มากที่สุด แซงกลุ่มธุรกิจสำคัญดั้งเดิม-ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (มองผ่านบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (มหาชน) หรือ CPF) หากมองเห็นบทบาทใหม่ๆ ของ TRUE ด้วย

โดยเฉพาะภาพข้างหน้า ซึ่งเชื่อมโยงทั้งเครือข่ายภูมิศาสตร์และดิจิทัล ด้วยเพ่งมองไปยังที่ที่หนึ่ง

“…ทรูมันนี่ได้เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2556…โดย Ascend Money Group โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านราย (ในปี 2566) ผ่านแอพพลิเคชั่น ทรูมันนี่ วอลเล็ท และเครือข่ายตัวแทน (ศูนย์ TrueMoney) จำนวนกว่า 88,000 แห่งใน 7 ประเทศ…ได้นำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีจาก Ant Financial และกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาช่วยในการผลิต คิดค้น และพัฒนาเพื่อสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มทางการเงิน…” ข้อมูลทางการของทรูมันนี่ว่าไว้อย่างนั้น

เชื่อว่าจะไปสู่ปลายทางสำคัญ กำลังจะมาถึงในไม่ช้า-ธนาคารไร้สาขา •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com