จับสัญญาณ “ขาใหญ่” ภาวะระแวดระวัง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

จับสัญญาณ “ขาใหญ่” ในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างพอประมาณ

ไทม์ไลน์เปิดฉากด้วยภาพสะท้อนความเป็นไประบบธนาคารไทย โดยธนาคารกสิกรไทย (KBank) รายงานผ่านผลประกอบการ (2565) ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ความสนใจคำว่า Expected credit loss หรือ ECL (ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) มากกว่าผลกำไร ว่าไปแล้วลดลงเพียงเล็กน้อย

ถ้อยแถลงธนาคารกสิกรไทย (29 มกราคม 2566) ระบุว่า

“…ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6%” ขณะที่ปฏิกิริยาจับจ้องกับรายงานอีกตอน มีผลในทันทีต่อราคาหุ้นที่ลดระดับลงพอสมควร

“…ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% …โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

ธนาคารกสิกรไทยได้ส่งสัญญาณด้วยบทวิเคราะห์อันระแวดระวัง

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถประคองทิศทางการฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2564 แต่ภาคการส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศแกนหลักของโลกยังคงต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อ…”

 

ถัดมาไม่กี่วัน (26 มกราคม 2566) เครือซินเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ในฐานะเครือข่ายธุรกิจรากฐานสังคมธุรกิจไทย ซึ่งถูกจับตาโดยนักลงทุนต่างชาติเป็นพิเศษ รายงานผลประกอบการให้ภาพซึ่งไม่ได้คาดไว้เช่นกัน ผลประกอบการปี 2565 ว่า มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% ที่น่าสนใจเป็นกำไร 21,382 ล้านบาท ถือว่าลดลงอย่างมากจากปีก่อนถึง 55% ดัชนีที่โฟกัสเป็นพิเศษ อยู่ที่ไตรมาสสุดท้ายด้วย

“…ในขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีกำไร 157 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน” ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการว่าไว้

เอสซีจีกับมุมมองต่อสถานการณ์อย่างเจาะจง ส่งผลกระทบ เป็นสัญญาณอย่างเป็นจริงเป็นจังทำนองเดียวกัน “เป็นผลจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี”

พร้อมนำเสนอท่าทีอย่างระแวดระวังเช่นกัน “…เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับตัวฉับไวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโดยรวม โดยมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต พิจารณาการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ”

 

อีกไม่กี่วันต่อมา (30 มกราคม 2566) พุ่งเป้าไปยังกลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายค้าปลีกชั้นนำของไทย กับแผนการจับต้องได้ ประกาศปรับแผนธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา – JD CENTRAL แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ออกแถลงการณ์ว่ามีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย

ความร่วมมือระหว่าง JD.com กับกลุ่มเซ็นทรัล เป็นดีลในช่วงปลายปี 2560 “บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ JD Finance ผู้นำด้านฟินเทคของประเทศจีน ความร่วมมือด้านการลงทุนมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดตัว 2 ธุรกิจร่วมในประเทศไทยในด้านอีคอมเมิร์ซ และฟินเทค” (สาระสำคัญถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัลในเวลานั้น) จนกระทั่งเมื่อกลางปี 2561 JD CENTRAL (www.JD.co.th) ได้เปิดบริการค้าปลีกออนไลน์อย่างเป็นทางการ

เรื่องราว JD.com โมเดลธุรกิจใหม่จีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับกรณี Alibaba และ Tencent เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ ก่อตั้งในช่วงเดียวกันด้วย (JD.com ก่อตั้งเมื่อปี 2541) และก็สามารถเข้าตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐ (ปี 2557) เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลกเช่นเดียวกัน และมาเป็นขบวนในเมืองไทย เป็นแนวโน้ใหม่มาแรงในเวลานั้น Lazada (ถือหุ้นใหญ่โดย Alibaba เปิดตัวในเมืองไทยก่อนใคร (ปี 2555) ส่วน Shopee (ถือหุ้นโดย Tencent) ตามมา (ปี 2558)

ว่าไปแล้วค้าปลีกออนไลน์ หรือ Ecommerce เติบโตในสังคมไทยอย่างมากในช่วงไม่ถึงทศวรรษ หากพิจารณาเฉพาะรายได้แค่ 3 ราย มีรายได้รวมกัน (ช่วงปี 2564-2565) ราวๆ 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี

แม้ว่าขณะเดียวกันขาดทุนรวมกัน (ว่ากันว่าเป็นปกติในช่วงต้นๆ) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) ราวๆ 25,000 ล้านบาท

เป็นอุตสาหกรรมใหม่ในไทยซึ่งถูกครอบงำโดยธุรกิจจีนค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และเชื่อกันอีกว่า จากนี้ไปจะมีภาวะครอบงำมากยิ่งขึ้น

การล่าถอยของ JD.com และกลุ่มเซ็นทรัล อาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นภาวะระแวดระวัง เกี่ยวในภาพใหญ่ (Macro) และภาพย่อยเกี่ยวกับกิจการด้านเทคโนโลยี (Tech company) ระดับโลก อยู่ในภาวะปรับตัวครั้งสำคัญ ขณะที่แต่ละฝ่ายมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย มีธุรกิจหลักที่มีความสำคัญกว่า

ไปในทางเดียวกัน เซ็นทรัลส่งสัญญาณระแวดระวังในความพยายามปรับยุทธศาสตร์การลงทุน และการบริหารธุรกิจในภาวะไม่แน่นอน

 

ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับกลุ่มเซ็นทรัล อยู่ที่บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC แกนสำคัญของกลุ่มธุรกิจหลัก ด้วยถ้อยแถลงประจำปีที่น่าสนใจเสมอ “เซ็นทรัล รีเทล มุ่งสู่ The Next Sustainable Growth อัดงบฯ ลงทุน 28,000 ล้านบาท คาดรายได้รวม 270,000 ล้านบาท โตกว่า 15% ขับเคลื่อนค้าปลีกไทยโตก้าวกระโดด”

ถ้อยแถลงล่าสุดข้างต้น (6 กุมภาพันธ์ 2566) ดูเผินๆ ตื่นเต้นเช่นเคย ทว่า เมื่อเทียบเคียงกับปีที่แล้ว มีบางอย่างน่าสังเกต

“- 8 กุมภาพันธ์ 2565 – เซ็นทรัล รีเทล ประกาศกลยุทธ์ CRC Retailligence เดินหน้า 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนองค์กร โดยการสร้างนวัตกรรมการค้าแห่งยุคอนาคต ด้วย 4 กลยุทธ์แห่งความสำเร็จ พร้อมอัดฉีดทุ่มงบฯ ลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ขยายการเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจทั้งฟู้ด แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ พร็อพเพอร์ตี้ และสร้างธุรกิจใหม่ ดันรายได้เติบโต 2.5 เท่า…”

พอจะจับภาพได้ว่า มุมมองและแผนการเซ็นทรัลรีเทล มีความระแวดระวังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแผนการลงทุน และเป้าหมาย (ข้อความที่เน้นไว้) อย่างไรก็ดี มีความเคลื่อนไหวหนึ่งซึ่งผู้คนตื่นเต้นกับถ้อยแถลงบางตอน เกี่ยวกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (Convenient store) ภายใต้แบรนด์ FamilyMart แห่งญี่ปุ่น

ด้วยธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งนี้ “ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าส่งค้าปลีกซึ่งมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.9% จากปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของ GDP สูงเป็นอันดับสองรองจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.0% ผู้ประกอบการมักเป็นนายทุนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมาก..” (จากบทวิเคราะห์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา-แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2566-2568 : ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่-28 ธันวาคม 2565)

รายงานข้างต้นระบุว่า ปี 2565 เฉพาะร้านสะดวกซื้อที่เป็น Chain store รายสำคัญ มีสาขารวมกัน 17,446 แห่งทั่วประเทศ โดย 7-Eleven (เครือซีพี) มีสาขารวมกันมากที่สุด 13,433 แห่ง (สัดส่วน 77.0% ของสาขาทั้งหมด) รองลงมา ได้แก่ Lotus’s go fresh ในเครือซีพีอีกเช่นกัน มีสัดส่วน 10.6% และ Mini Big C (เครือทีซีซี) มีสัดส่วน 8.2% ขณะ FamilyMart ของเครือเซ็นทรัลได้ค่อยๆ ลดบทบาทลง จากสาขาที่เคยสูงสุดราว 1,000 แห่ง เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จนเหลือไม่ถึงครึ่ง

ว่าด้วยกระแสและทิศทาง สัญญาณข้างต้น ได้ส่งมาแรงพอสมควร เชื่อว่าคงสัมผัสกันได้ •