พลังงานกับการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( PM 2.5 ) ตอนที่ 2

มาตรการด้านพลังงานในการแก้ไขปัญหา PM 2.5
การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นมา โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งมีมาตรการด้านพลังงาน 7 ด้าน ต่อมากระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาคพลังงาน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก วางแผนกำหนดแนวทางและมาตรการเฝ้าระวังกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่จะเกิดขึ้นในภาคพลังงาน คณะทำงานได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 และได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อการบริหารจัดการทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

1) มาตรการระยะสั้น ( ปี พ.ศ. 2562-2563 )
• การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 10 และน้ำมัน บี 20 เพื่อลดปริมาณการปล่อย PM 2.5 จากไอเสียรถยนต์
2) มาตรการระยะกลาง ( ปี พ.ศ. 2563-2565 )
• การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
3) มาตรการระยะยาว ( ปี พ.ศ. 2565-2567 )
• การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่าระดับยูโร 5
• การส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ( EV )

การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 10 และ บี 20 กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายส่งเสริมน้ำมันดีเซล บี 10 และ บี 20ซึ่งสามารถลดควันดำและ PM 2.5 ได้ โดยการทดลองของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ทดลองกับรถเก่า ( ยูโร 3 ) และรถใหม่ ( ยูโร 4 ) เปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำมันดีเซล บี 10 และ บี 20 พบว่าสามารถลดควันดำและ PM 2.5 ได้ดังนี้


การลดควันดำ
– การใช้น้ำมันดีเซล บี 10 ทำให้ปล่อยควันดำลดลง 42% กรณีรถยูโร 4 และ 72% กรณีรถยูโร 3
– การใช้น้ำมันดีเซล บี 20 ทำให้การปล่อยควันดำลดลง 51% กรณีรถยูโร 4 และ 67% กรณีรถยูโร 3
การลด PM 2.5
– การใช้น้ำมันดีเซล บี 10 ทำให้ปล่อย PM 2.5 ลดลง 3.5% กรณีรถยูโร 4 และ 13% กรณีรถยูโร 3
– การใช้น้ำมันดีเซล บี 20 ทำให้ปล่อย PM 2.5 ลดลง 21% กรณีรถยูโร 4 และ 23% กรณีรถยูโร 3
ในด้านการส่งเสริมการจำหน่าย กรมธุรกิจพลังงานได้มีการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมัน บี 20 ตั้งแต่ 21 มกราคม 2562 และบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมัน บี 10 ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2562 นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาหรือน้ำมัน บี 7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และกำหนดแผนการส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมัน บี 10 โยกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งจะต้องมีการจำหน่ายน้ำมัน บี 10 และมีเป้าหมายให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล 7 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2563

การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี2563 จะเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้า จำนวน 700 เมกะวัตต์ กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบดังนี้ (1) โครางการ Quick Win ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือก่อสร้างใกล้เสร็จ เข้าร่วมโครงการและกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 (2) โครงการทั่วไป เป็นโครงการที่ให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการทั่วไป กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตั้งแต่ ปี 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะพิจารณาโครงการ Quick Win ก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจึงจะพิจารณารับซื้อโครงการทั่วไป ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

อนึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนนอกจากผลประโยชน์จะตกกับชุมชนด้านของการขายเชื้อเพลิง การจ้างงานแล้ว ยังมีประโยชน์ในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้โรงไฟฟ้าจะต้องใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ซึ่งปกติแล้วชาวบ้านจะนิยมในการเผาเชื้อเพลิงทั้งสองชนิด ในการทำการเกษตร และเมื่อเปลี่ยนมาเผาไหม้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งมีระบบดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพลดฝุ่นได้ถึง 99.5% ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 200 เมกะวัตต์ จะลดการปล่อย PM 2.5 รวมได้ปีละ 16,000 ต้น เป็นต้น

นอกจากความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ก็ยังมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาด้วยการสนับสนุน และส่งเสริมการลดปัญหามลพิษในฝั่งของยานพาหนะด้วย ว่ากันต่อในฉบับหน้า