บทความพิเศษ : เบื้องลึก “ทรัมป์” ลงดาบตัด GSP ไทย เป้าหมายคือลดขาดดุลการค้ามหาศาล

เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ (President Proclamation) ระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือ GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,919 ล้านเหรียญ

ในจำนวนนี้ปรากฏว่าประเทศไทยส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษ GSP ในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญ

การถูกระงับสิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราวครั้งนี้จะมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 โดยสินค้าไทยจำนวน 573 รายการ จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.5 จากเดิมที่เสียภาษี 0%

 

ในแถลงการณ์ ประธานาธิบดีได้อ้างเหตุผลของการระงับสิทธิ GSP ไว้ว่า ประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และเมื่อสืบค้นลงไปในการ “ทบทวน” โครงการให้สิทธิพิเศษ GSP ประจำปี 2562 (Practices Reviews) ในกรณีของประเทศไทย จะพบว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน หรือ Worker Rights มากที่สุด

กรณีนี้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (American Federation Labor&Congress of Industrial Organization หรือ AFL-CIO) เป็นผู้ยื่นคำร้องกล่าวหาประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องมาถึงปี 2558 หรือยื่นคำร้องกล่าวหาประเทศไทยมาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ครอบคลุมตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งไม่ได้หยิบยกข้อกล่าวหานี้มาเป็นเหตุให้ระงับสิทธิพิเศษ GSP ไทย แตกต่างจากวิธีปฏิบัติของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เล่นงานประเทศไทยทันที

ด้วยเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ประเทศที่จะได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1)มีระดับการพัฒนาประเทศ พิจารณาจาก GNP per capita ของ Work Bank (ปี 2557 ไม่เกิน 12,735 ล้านเหรียญ) 2)มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุสมผล 3)มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 4)มีการกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้าลง 5)ต้องให้การสนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย และ 6)มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ซึ่งข้อสุดท้ายนี้เองที่ได้ถูกหยิกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการระงับสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศไทย

 

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า การระงับสิทธิพิเศษ GSP เกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าสหรัฐ 2 กิจกรรมคือ 1.กองทัพไทยตกลงซื้อรถเกราะล้อยาง Stryker M1126 มือสอง ล็อตแรกจำนวน 120 คัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,960 ล้านบาท และ 2.คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศ “แบน” สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 3 รายการ 1 ในกลุ่มที่โดนแบนคือ “ไกลโฟเซต”

กล่าวสำหรับกิจกรรมการซื้ออาวุธจากสหรัฐในรายการแรกเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี ถึงขนาดที่ผู้อำนวยการกองกำลังสหรัฐภาคพื้นอินโดแปซิฟิกเดินทางมาส่งมอบรถเกราะล็อตแรกด้วยตัวเองที่ประเทศไทย

 

ขณะที่กิจกรรมการ “แบน” ไกลโฟเซตอย่างหลังนั้น กระทรวงเกษตรและการค้าสหรัฐได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในทันที เพื่อขอให้ “ชะลอ” การแบนออกไปก่อน จากเหตุผลที่ว่า สหรัฐและไทยจะเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญ จากการ “ห้ามนำเข้า” กากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-กาแฟ-แอปเปิล-องุ่น ที่มีการใช้ไกลโฟเซตจากแปลงเพาะปลูกในสหรัฐเข้ามาจำหน่ายในไทย

แต่อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ไม่มีการพูดกันก็คือ บริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตรายใหญ่ในสหรัฐกำลังสูญเสียตลาดส่งออกมูลค่านับ 10,000 ล้านบาทในประเทศไทยไปอย่างถาวร (ไทยนำเข้าเฉลี่ยปีละ 50,000-60,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด)

และหากพิจารณาตัวเลขการค้าไทย-สหรัฐล่าสุดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาก็จะพบว่า แม้ทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้ารวมกัน 30,475.85 ล้านเหรียญ หรือมีอัตราขยายตัวร้อยละ 4.52 แต่ “ไส้ใน” กลับปรากฏว่าสหรัฐเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าไทยถึง 13,285.52 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าฝ่ายเดียวต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ซ่อนอยู่ “เบื้องหลัง” คำสั่งประธานาธิบดีทรัมป์ในการระงับสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศไทยเป็นการชั่วคราวทันที หากชั่งน้ำหนักกันแล้ว ระหว่าง “รายได้” จากการจำหน่ายอาวุธให้กับประเทศไทยในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กับการสูญเสียตลาดส่งออกสารเคมีทางการเกษตร รวมไปถึงเมล็ดถั่วเหลือง-กากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี ปีละเป็นล้านๆ ตัน

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังไม่ได้ “ปิดช่อง” การเจรจาจากการถูกระงับสิทธิพิเศษ GSP ลงไปในทันที เนื่องจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์จะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 25 เมษายน 2563 หรือเท่ากับประเทศไทยยังมีเวลาเหลืออีก 6 เดือนในการแก้ปัญหาทางการค้ากับสหรัฐ ด้วยการส่งสัญญาณผ่านทาง Michael Heath อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทย หลังการประกาศระงับสิทธิพิเศษ GSP ได้เพียง 2 วัน

จากสาระสำคัญในการหารือที่ว่า คำสั่งระงับสิทธิพิเศษ GSP ยังไม่ Final หมายความว่า ใน 6 เดือนที่เหลือ ตัวแทนรัฐบาลไทยจะต้องเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อหาข้อยุติในเรื่องของสิทธิแรงงาน หรือ Worker Rights ให้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว กับการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ที่สหรัฐขอ “มากกว่า” ที่ระบุไว้ในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว กับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองในนามสหภาพ รวมไปถึงการบังคับใช้แรงงานในภาคประมง ซึ่งเป็น “หน้าฉาก” ของการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับ USTR

จริงๆ แล้วทั้ง 2 ฝ่ายต่างรับรู้กันมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ AFL-CIO ได้ยื่นข้อกล่าวหาประเทศไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้วว่า การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานเป็นของตนเอง 100% เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างนั้นเป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานไทยยอมรับไม่ได้ ทั้งยังเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ

 

ในขณะที่ “หลังฉาก” ของการเจรจากับ USTR ฝ่ายสหรัฐจะต้องหยิบยกประเด็นทางการค้าอื่นๆ ขึ้นมาต่อรองแลกผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตลาด (Market Access) การนำเข้าเนื้อหมูที่สหรัฐใช้สารเร่งเนื้อแดงเข้ามาในประเทศ ตามที่ระบุไว้ในข้อพิจารณาของการ “ทบทวน” โครงการสิทธิพิเศษ GSP ในเดือนตุลาคม 2562

แน่นอนว่าการระงับสิทธิพิเศษ GSP เป็นการชั่วคราวของสหรัฐในครั้งนี้ “มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช “ไกลโฟเซต” ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแน่ๆ แต่เป็นเรื่องที่ถูกจัดวางจังหวะการตอบโต้จากฝ่ายสหรัฐ ที่อาศัยการใช้กลไกการให้สิทธิพิเศษแต่เพียงฝ่ายเดียวมา “บีบบังคับ” รัฐบาลไทยให้ยอมสละผลประโยชน์ทางการค้าในช่วง “ขาขึ้น” ของความสัมพันธ์ระหว่างกันหลังการเลือกตั้ง

โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การลดผลกระทบที่บริษัทสหรัฐจะเสียผลประโยชน์ (กรณีแบนสารเคมีอันตราย), เปิดโอกาสให้กับสหรัฐในการส่งออกเนื้อสุกร และที่สำคัญที่สุด นั่นคือจะต้องลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐจากตัวเลข 13,285 ล้านเหรียญลงมาให้ได้