เผยสำรวจคนไทยระวังใช้จ่าย | หวัง รบ.ใหม่สานต่อระบบราง | ความเชื่อมั่นเอกชนดีขึ้น

แฟ้มข่าว

เฮ! กนง.คงดอกเบี้ย 1.75%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.ครั้งที่ 2/2562 มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง คงอัตราดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น ขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ พร้อมกันนี้ กนง.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยมาอยู่ที่ 3.8% จากก่อนหน้าคาดไว้ 4% ผลจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก ผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทบต่อการส่งออกไทย

เผยสำรวจคนไทยระวังใช้จ่าย

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2561 จำนวน 52,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,346 บาทต่อเดือน ลดลงจากปี 2560 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,437 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 7,039 บาท หรือคิดเป็น 34.8% รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัย 4,222 บาท หรือ 19.8% ยานพาหนะ การเดินทาง 3,792 บาท หรือ 17.7% โดยการใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มลดลงผลจากระมัดระวังการใช้จ่ายในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ดีมากนัก ส่วนผลสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคมปี 2561 พบว่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.246% จากปี 2560 อยู่ที่ 0.241% อีกทั้งเห็นว่าการปรับเงินเดือนพนักงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจควรคงไว้ก่อนได้ หรือปรับขึ้นควรให้เป็นตามสภาวะเศรษฐกิจ

บินไทยเล็งประมูลแอร์คาร์โก

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยไม่ได้เข้าร่วมกับพันธมิตรในการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื่องจากติดปัญหากฎระเบียบบางประการขององค์กร แต่สนใจทำธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินซึ่งเป็นธุรกิจหลักของการบินไทยอยู่ ระหว่างนี้ต้องรอให้กองทัพเรือคัดเลือกและประกาศรายชื่อเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการก่อน เบื้องต้นการบินไทยสนใจร่วมประมูลแข่งขันงานขนส่งสินค้าทางอากาศ (แอร์คาร์โก) และงานบริการภาคพื้นและสนับสนุนการบินภาคพื้น ซึ่งเป็นงานบริการที่การบินไทยมีความถนัดและเชี่ยวชาญในปัจจุบัน ส่วนจะร่วมกับพันธมิตรหรือประมูลเดี่ยวต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า การบินไทยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ดบินไทย) เดือนเมษายนนี้ขออนุมัติเปิดเส้นทางบินใหม่ไปเมืองรองของประเทศญี่ปุ่น แบบเที่ยวบินประจำเส้นทางกรุงเทพฯ-เซนได (ญี่ปุ่น) คาดเปิดให้บริการปลายเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

หวัง รบ.ใหม่สานต่อระบบราง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลใหม่สานต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบรางที่รัฐบาลก่อนเลือกตั้งได้วางรากฐานไว้แล้ว เพื่อช่วยการขยายเมืองกระจายความเจริญ ซึ่งแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (เอ็มแมพ) โครงข่ายระยะแรก (เอ็มแมพ 1) 20 กิโลเมตร รัฐบาลได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม ส่วนการพัฒนากำลังเข้าเอ็มแมพ 2 ขยายโครงข่ายต่ออีก 40 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องมาสานต่อเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ แทนสถานีหัวลำโพง ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนพื้นที่กว่า 2,300 ไร่พัฒนาร่วมกับเอกชน

บ้านล้านหลังเฟส 2 จอง ก.ย.

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.พร้อมจะดำเนินการบ้านล้านหลังเฟส 2 ในเดือนกันยายนนี้ โดยมีวงเงินเตรียมไว้ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท โดยเฟสแรกล่าสุดมีคำขอยื่นกู้ 4,100 ราย วงเงินกู้ 2,560 ล้านบาท และอนุมัติสินเชื่อแล้ว 3,580 ราย วงเงินกู้ 2,200 ล้านบาท ปัญหาที่พบในกลุ่มแรกคือผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนชำระเพียง 2,000-2,800 บาทต่อเดือน หรือสัดส่วนถึง 30% ซึ่งต่ำกว่าเงินงวดที่ ธอส.กำหนดไว้ 3,800 บาทต่อเดือน ดังนั้น ธอส.กำลังพิจารณาแนวทางช่วยเหลือในกลุ่มที่ผ่อนชำระไม่ไหว เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระเป็น 50 ปีจากขณะนี้ระยะกู้สูงสุด 40 ปี รวมถึงขอให้รัฐบาลชดเชยเงินเพื่อให้เงินงวดอยู่ที่ 2,800 บาทต่อเดือน โดยช่วง 6 ปีใช้เงินประมาณ 2,400 ล้านบาท หรือ ธอส.จะแบกภาระไว้เอง อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทาง คาดว่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้

ความเชื่อมั่นเอกชนดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 48.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมอยู่ที่ 48% ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางการเมืองและหาเสียงคึกคัก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัว 4% นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น สถานการณ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐเริ่มผ่อนคลาย ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย และผู้ประกอบการมองความเชื่อมั่นต่ออนาคตดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบคือการส่งออกไทยลดลง ความวิตกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าจะชัดเจนในอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจกระทบต่อการส่งออกไทยอยู่ รวมถึงกังวลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ทรงตัวต่ำ ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มาก

ทั้งนี้ เอกชนมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 ในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ 3.5% และครึ่งปีหลังขยายตัวได้ 4% ทำให้ทั้งปี 2562 ขยายตัว 3.8% ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์หลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 หรือตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคมนี้เป็นต้นไป