E-DUANG : ทฤษฎี “สมคบคิด” บน “เรือแป๊ะ”

อาการของคสช.และของรัฐบาลต่อร่างพรป. 2 ฉบับอันเกี่ยวกับโรดแมป “การเลือกตั้ง” กล่าวคือ

1 พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

1 พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

สะท้อนออกอย่างเด่นชัดเป็น “รูปธรรม” อีกคำรบหนึ่งว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นและก่อความปั่นป่วนในขณะนี้มิได้มาจาก “ภายนอก”

หากเป็นเรื่อง “ภายใน”ของคสช.และของรัฐบาลเอง

มองอย่างผิวเผินเท่ากับยืนยันการไม่ประสานระหว่าง”แม่น้ำ 5 สาย” แม้ว่าจะนั่งอยู่บน “เรือแป๊ะ”ลำเดียวกัน

ปัญหามิได้มาจาก”นักการเมือง”หรือ”กลุ่มการเมือง”

อย่างนี้แหละจึงถูกมองว่ากำลัง”สมคบคิด”กันอยู่

 

ถามว่าคนที่สุมหัวกันยกร่างและพิจารณาร่างพรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.และพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีกำเนิดมาอย่างไร

คำตอบเด่นชัดว่า มาจาก”คสช.”

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ก็มาจากคสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็มาจากคสช. คณะกรรมาธิการซึ่งรับผิดชอบวาระสองก็แต่งตั้งโดยสนช.

การอนุมัติเห็นชอบผ่านร่างพรป.ทั้ง 2 ก็เกิดขึ้นในที่ประชุมใหญ่ของสนช.

มติที่เห็นชอบก็แทบจะเป็น”เอกฉันท์”ด้วยซ้ำไป

เช่นนี้เองทำให้ความเห็น”แย้ง”อันมาจากคณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญ(กรธ.)ซึ่งนำไปสู่การส่งเรื่องส่งตีความโดยสนช.ต่อร่างพรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.จึงเกิดขึ้น

เช่นนี้เองจึงมีแนวโน้มว่าอาจต้องมีการส่งร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เพื่อตีความอีกฉบับหนึ่ง

คำถามก็คือ ใครจะรับผิดชอบใน”ความผิดพลาด”ทั้งหมดนี้

 

การทำงานแบบนี้เองทำให้”ปฏิญญาโตเกียว”ต้องเลื่อนจากมติของที่ประชุมใหญ่สปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558

คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ

ทั้งๆที่ทั้งหมดล้วนเป็นการร่างเอง คว่ำเองโดยผู้คน”บนเรือแป๊ะ”ที่ท่องไปใน”แม่น้ำ 5 สาย”ทั้งสิ้น

เคยมีการตรวจสอบหรือไม่ เคยมีการถามถึงหลักแห่ง”ธรรมาภิบาล”หรือไม่ เคยมีการถามถึง”ความรับผิดชอบ”หรือไม่

จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนมีนาคม 2561