E-DUANG : บทเรียน การเมือง ของพม่า ภาพสะท้อน การเมือง”ไทย”

การเมืองในพม่ากำลังเป็นเหมือน”หนังตัวอย่าง”ให้กับการเมืองในสังคมไทยในเรื่องของ”รัฐประหาร” ในเรื่องของ”การเลือกตั้ง”

พม่าเดินอยู่ใน”วงจร”ของรัฐประหารและการเลือกตั้งตั้งแต่ยุคของนายพลเนวิน กระทั่งยุคของนายพลมินอ่องหล่าย

สังคมไทยก็เดินอยู่ใน”วงจร”รัฐประหาร การเลือกตั้ง

สะสมบทเรียนมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายน 2476 จนถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

น่าสนใจก็ตรงที่สังคมไทยมี”พัฒนาการ”ใหม่

เป็นการสะสม”บทเรียน”ในท่ามกลางการต่อสู้ เป็นการยกระดับในกระบวนการ”ทดลอง”ทางการเมืองตั้งแต่ยุคหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

นั่นก็คือ การใช้กระบวนการในทาง”กฎหมาย”มาเป็นเครื่อง มือเพื่อชะลอความจำเป็นในการใช้กระบวนการในทาง”รัฐประหาร”

เริ่มจากทดลองสร้างกติกาอันเป็นข้อจำกัดและเป็นเครื่องมือในการทำลายก่อนจะยกระดับเป็น”รัฐประหาร”

 

ความเข้มในกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 113 ไม่ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบพรรค

การยุบพรรคอาจเริ่มที่พรรคไทยรักไทยและต่อเนื่องมาถึงพรรคอนาคตใหม่

ตอนนี้กำลังเล่นเอาเถิดอยู่กับพรรคก้าวไกล

พม่าอาจมีเพียงรัฐประหาร เลือกตั้ง แล้วรัฐประหาร แต่ของไทยอลังการด้วย รัฐประหาร เลือกตั้ง ยุบพรรค แล้วรัฐประหาร มีความสลับซับซ้อนมากกว่า

แต่ไม่ว่าในเรื่องของรัฐประหาร ไม่ว่าในเรื่องเลือกตั้ง ไม่ว่าในเรื่องยุบพรรค ล้วนเกิดภายใต้กฎกติกาอันมีรากฐานมาจากรัฐประหารทั้งสิ้น

สถานการณ์ในพม่าจึงเหมือนแบบจำลองของไทย สถาน การณ์ในไทยจึงเป็นแบบจำลองให้พม่า

 

ความก้าวหน้าเป็นอย่างมากของไทย เห็นได้จากปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และความต่อเนื่องในปัจจุบัน

ภาพที่เห็น คือ การจับมือระหว่างพรรคที่เคยเป็นปฏิปักษ์กัน

นั่นก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ อันเคยมีส่วนในการทำรัฐประหาร กับ พรรคเพื่อไทย อันเคยเป็นเป้าหมายของการทำรัฐประหาร

ปรากฏการณ์นี้สร้างความตื่นตลึงและกำลังกลายเป็นประดิษฐ์กรรมหนึ่งในทางการเมืองของสังคมไทย