E-DUANG : การต่อสู้ การเมือง เมียนมา การต่อสู้ ใต้ “วงจรอุบาทว์”

สถานการณ์เมียนมาได้เสนอ”บทเรียน”อันแหลมคมยิ่ง ต่อการเมืองโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน

เตือนให้ตระหนักในวงจรการเมืองระหว่าง”การเลือกตั้ง”กับ“รัฐประหาร”ว่าดำเนินไปอย่างไร

วงจรในลักษณะนี้ถูกเรียกว่าเป็น”วงจรอุบาทว์”

เพียงแต่ภายในความอุบาทว์อันเกิดขึ้นและต่อเนื่องเป็นเครื่องมือที่ไม่ว่าทหารเมียนมา ไม่ว่าทหารไทย เลือกที่จะใช้โดย หวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้

หากมองในลักษณะประวัติศาสตร์ของเมียนมาก็เริ่มตั้งแต่ยุคของนายพลเนวิน หากมองในลักษณะประวัติศาสตร์ของไทยก็ เริ่มตั้งแต่ยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

แต่ละครั้ง แต่ละสถานการณ์ ก็มีนักวิชาการสรุปเป็นบทเรียน มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะความสงสัยที่ว่าจะนำมาตรการทางการทหารมาแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่

มองเฉพาะหน้าอาจสามารถจัดการได้โดยละม่อม แต่มองอย่างเป็นกระบวนการกลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่

บทเรียนจากกรณี อองซาน ซูจี ของเมียนมาจึงมีความหมาย

 

ลักษณะพิเศษก็คือ เมื่อรัฐประหารแล้วทหารเมียนมาก็จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้ง ทั้งเพื่อผ่อนคลายและเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ กับการสืบทอดอำนาจ

เพียงแต่เมื่อจัดการเลือกตั้งชัยชนะกลับเป็นของ อองซาน ซูจี มิได้เป็นของกลุ่มทหารที่กุมอำนาจ

หนทางออกของกลุ่มทหารจึง”ยึดอำนาจ”โดย”รัฐประหาร”

การรัฐประหารอาจทำให้กองทัพสามารถยึดครองและสืบทอดอำนาจของตนได้ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งก็ประสบความพ่ายแพ้อีกแล้วก็รัฐประหารอีก

แพ้อย่างต่อเนื่องกลุ่มทหารที่กุมอำนาจก็มิได้สรุปบทเรียนว่า ที่พ่ายแพ้เพราะการบริหารไม่เข้าตาประชาชน และประชาชนต้องการใช้การเลือกตั้งมาเป็นอาวุธในการต่อสู้

เมื่อไม่มีการสรุป เมื่อไม่มีการแก้ไขวงจรอุบาทว์ก็แผลงฤทธิ์ใส่กลุ่มทหาร เซาะกร่อนบ่อนทำลายอำนาจทหาร

 

ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของกลุ่มทหารในเมียนมาสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าประชาชนปฏิเสธอย่างเป็นรูปธรรม

การปฏิเสธที่นุ่มนวลที่สุดคือปฏิเสธผ่าน”การเลือกตั้ง”

แม้จะเด่นชัดหลายครั้งหลายหนกลุ่มทหารที่กุมอำนาจก็ยังไม่ยอมรับในจุดอ่อนและความไม่เหมาะสมของตนบนเวทีทาง การเมือง ในที่สุดก็อาจต้องพ่ายแพ้ในทางการทหาร

เป็นความพ่ายแพ้จากปัจจัย”ภายใน” และการไม่ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัย”ภายนอก”เหมือนอย่างในอดีต