E-DUANG : ไม้เด็ด การเมือง ยุบพรรค สงคราม สั่งสอน เพื่อสยบ

ความเชื่อที่ว่าภายหลังคำวินิจฉัย”ยุบ”พรรคก้าวไกล แล้วจะก่อให้เกิดความระส่ำระสาย เกิดความขัดแย้ง เกิดความแตกแยกและนำไปสู่การแยกตัวในทางการเมือง

มิได้เป็นความเชื่ออันเลื่อนลอย ว่างเปล่า ตรงกันข้าม มีความเป็นจริงในลักษณะนี้รองรับเป็นจำนวนมากมาย

ไม่เพียงแต่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

ดังในกรณีของพรรคประชาราช ดังในกรณีของพรรคเพื่อแผ่นดิน ดังในกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทย

ดังในกรณีของพรรคภูมิใจไทยภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน

กล่าวสำหรับพรรคอนาคตใหม่ก็มีตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ก่อนคำวินิจฉัยยุบพรรคในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลก็มิใช่จะไม่ปรากฏ”ความขัดแย้ง”ที่มีอยู่เป็นความจริงที่ว่าการยุบพรรคไทยรักไทยมิใช่ว่าจะจบ เช่นเดียวกับการยุบพรรคอนาคตใหม่มิใช่ว่าจะจบ

คำถามก็คือแม้จะไม่จบแล้วทำไมจึงยังมีการยุบพรรคอยู่

 

ยุทธการยุบพรรคเป็นการตัดกำลังและสยบปรปักษ์ทางการเมือง ที่แสดงบทบาทและผลสะเทือนให้เห็นอยู่เสมอจนกลายเป็นแนว ทางหนึ่งที่นำมาใช้เป็นอาวุธในทางการเมือง

ตัวอย่างจากกัมพูชาเห็นชัดอย่างยิ่งในอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในกำมือแกร่งของตระกูล”ฮุน”

กล่าวสำหรับประเทศไทย การยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 เมื่อประสานเข้ากับการรัฐประหารไม่ว่าจะเมื่อปี 2549 ไม่ว่าจะเมื่อปี 2557 ก็สัมฤทธิ์ผลในปี 2566

เกิดมาตรการร่วมมือทางการเมืองระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคภูมิใจ ไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมร่วมขบวนแห่

หากศึกษาเงื่อนแง่ของความร่วมมือก็จะเห็นเด่นชัดว่าเพื่อต้องการโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลให้สยบยอมในลักษณาการเดียวกันกับที่เกิดขึ้นแล้วกับพรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมจำนนก็จำเป็นต้องยุบต่อไป

 

ไม่ว่าจะเรียกการจับมือข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวม ไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เป็นกลยุทธ์อันยอดเยี่ยมภายใต้คำขวัญก้าวข้ามความขัดแย้งแห่ง”รัฐบาลพิเศษ”

แต่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วก็มิได้ดำรงอยู่อย่างด้านเดียว ตรงกันข้าม ยังสะท้อนให้เห็นภาพทั้งในด้านของการร่วมและในด้านของการต่อสู้ระหว่างกันและกันอยู่

เอกภาพแห่งความขัดแย้งในลักษณะนี้ย่อมเป็นสภาพทาง การเมืองที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจและติดตาม