E-DUANG : ประวัติศาสตร์ แห่ง “อำนาจ” บนหลังเสือ

หากคิดจะเอาดีในทาง“การเมือง”ผ่านบทของ”นักการเมือง”จำเป็น ต้องสนใจ “ประวัติศาสตร์”

ไม่ว่าประวัติศาสตร์”ยุคใกล้”

ไม่ว่าประวัติศาสตร์”ยุคไกล”

ไม่ว่าประวัติศาสตร์ของ “ไทย” ไม่ว่าประวัติศาสตร์ของไทต่างด้าว ท้าวต่างแดน

เพราะว่า “ประวัติศาสตร์” คือ “บทเรี่ยน”

ล้องย้อนกลับไปดู “วิถี” ของคนในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นโจโฉในยุคสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้วนสนใจ”ประวัติศาสตร์”

เพราะประวัติศาสตร์คือ บทเรียนแห่ง”อำนาจ”

 

สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองของไทย คือประวัติศาสตร์ของ”รัฐประหาร”

ขอให้ศึกษา”วิถี”ของผู้ได้อำนาจจาก”รัฐประหาร”

มีเพียง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เท่านั้นที่อนิจจกรรมในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

แต่เมื่อ”ล่วง”ไปแล้วเป็นอย่างไร

ก็ถูก จอมพลถนอม กิตติขจร นั้นเองใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์ในกองมรดกเข้าแผ่นดิน

เพราะว่าเป็นทรัพย์สกปรก ได้มาโดย”โกงกิน”

ขอให้ดู จอมพลถนอม กิตติขจร ขอให้ดู พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมาโดย”รัฐประหาร” และไม่ยอมอำลาไปตามวิถีอันชอบอันควร

ล้วนแต่ต้องออกจาก”ตำแหน่ง”อย่างไม่เต็มใจ

 

ปมเงื่อนอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งอยู่ตรงที่คนเหล่านี้ไม่ยอมลงจาก “อำนาจ”เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

นั่นก็คือ ต้องการสืบต่อ และต่อท่อแห่ง”อำนาจ”

จอมพลถนอม กิตติขจร จึงถูกไล่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงต้องถูกบีบให้ออก

มีแต่ พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ ที่บอก”ผมพอแล้ว”

เพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สำเหนียกดีว่า “กองหนุน”เริ่มร่อยหรอ

จึงลงจาก”หลังเสื่อ”โดยไม่ถูกเสือ”ขม้ำ”