E-DUANG : บทบาท การเมือง “เสื้อแดง” ต่อจาก จตุพร และ ณัฐวุฒิ  

นอกจากข่าวอันเกี่ยวกับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ ที่ตามมาติดๆ ย่อมเป็น

1 ปรปักษ์ของ นายทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยเป็นมวลมหาประชาชนกปปส.

ก่อนรัฐประหาร 2549 ก่อนรัฐประหาร 2557

ขณะเดียวกัน 1 คือมิตรที่เป็นฐานกำลังทางการเมืองให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการของ”คนเสื้อแดง”

อย่าได้แปลกใจหากจะเห็นการจัดงานสังสรรค์ของ”เสื้อแดง”สมุทรปราการที่นำโดย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และ นายวรชัย เหมะ

อย่าได้แปลกใจหากจะเห็นข่าวการนัดชุมนุมใหญ่ของ”เสื้อแดง”ในจังหวะที่ นายทักษิณ ชินวัตร จะบินไปไหว้บรรพบุรุษที่เชียงใหม่

แปลกอย่างยิ่งที่ในข่าวอาจไม่มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ อาจไม่มี นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รวมอยู่ด้วย

แม้กระทั่ง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ก็อยู่ในความเงียบ

 

กล่าวสำหรับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อาจมีความแจ่มชัดในการเลือกยืนว่าอยู่ตรงกันข้ามกับ นายทักษิณ ชินวัตร มากกว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกัน

นั่นก็คือ การประกาศจัดตั้ง”คณะหลอมรวมประชาชน” แทนที่ตำแหน่ง”ประธานนปช.”ซึ่งกลายเป็น”อดีต”

ขณะที่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ น่าเป็นปัญหา”สุขภาพ”

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ หลังพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ก็อยู่ในสภาพหมดสิทธิทางการเมือง

ความสัมพันธ์ต่อพรรคเพื่อไทยยังมิได้แปรเปลี่ยน แต่ก็หมด บทบาทในฐานะเลขาธิการนปช.ไปในลักษณะเดียวกันกับบทบาท ประธานนปช.ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์

ภาพของ”เสื้อแดง”จึงเห็นเด่นชัดอย่างที่อิมพีเรียล สำโรง และที่จะเห็นเด่นชัดในห้วง นายทักษิณ ชินวัตร เยือนเชียงใหม่

 

ต้องยอมรับว่าบทบาท”เสื้อแดง”แนบแน่นอยู่กับเส้นทางการเมือง อันโลดโผนของ นายทักษิณ ชินวัตร

มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ มี นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เด่นชัด

สถานการณ์นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ทำให้ การเมืองเข้าสู่จังหวะก้าวใหม่ ส่งผลสะเทือนทั้งต่อพรรคเพื่อไทย และต่อบทบาทของ”เสื้อแดง”อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ภาพที่เห็นและเป็นอยู่จึงน่าจะเป็นอีกยุคหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และเป็นอีกก้าวหนึ่งของ”เสื้อแดง”