E-DUANG : แล้ว”บังเอิ๊น บังเอิ๊น” ก็เป็นอาวุธ ปะทะ เพลงมาร์ช “หลวงวิจิตรฯ”

แม้เพลงมาร์ชในท่วงทำนองแบบของ พล.อ.หลวงวิจิตรวาทการ จะกระหึ่มมาพร้อมกับวาทะร้อนแรงของ”ป้าติ่ง” นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ว่า

“ไม่ต้องถึงผบ.ตร.หรอก ถ้าเกิดฉันมีอำนาจฉันก็ปฏิวัติ ถ้าเกิดฉันมีรถถังฉันจะขับไปเหยียบหัวแตกเลย”

กระนั้น เมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์การนำเอา”คลิปเสียง” การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไอทีวี มีการเปิดโปงผ่าน”ข่าว 3 มิติ”ของ พี่แยม ฐปณีย์

ตามมาด้วยการขยายรายละเอียดผ่าน”เรื่องเล่าเช้านี้”ของ เฮียสรยุทธ์ กับ “น้องไบรท์” จากนั้น บทเพลง”บังเอิ๊น บังเอิ๊น”จากเสียงของ 2 พี่น้อง”อัศนี วสันต์”ก็ดังกระหึ่ม

การได้ยิน”เพลงมาร์ช”ในบรรยากาศแห่งการรัฐประหารดำรงอยู่ในความรับรู้ของคนไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทั่งยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่การได้ยินเพลงป็อบในแบบของ”อัศนี วสันต์”ในบรรยากาศแห่งการต่อสู้และขัดแย้งทางการเมืองเรื่องหุ้น เรื่องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นเรื่องใหม่

เป็นเรื่องใหม่ในยุคแห่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

สังคมอาจรู้สึกว่า การปรากฏตัวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นส.พรรณิการ์ วานิช ในกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 คือความแปลกแปร่ง

แต่ก็เป็นความแปลกแปร่งที่สัมพันธ์อยู่กับการเคลื่อนไหวในอดีตอย่างแนบแน่น ยากจะแยกออก

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

แต่พลันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปรากฏตัวในการเลือกตั้ง เดือนพฤษภาคม 2566 บทเพลง”ไม่ขอเป็นรอง”ของ”พี่โอม ค็อคเทล”ก็กลายเป็นเพลงประจำ

ตามมาด้วยเสียงเพลง”คิดถึงเธอ”ในท่วงทำนองของ พี่ทิม ก็ยิ่งเหมือนกับบัตรเชิญให้กับ”บังเอิ๊น บังเอิ๊น”โดย”อัศนี วสันต์”

 

เกิดการเทียบเปรียบในลักษณะต่อสู้อย่างร้อนแรงว่า ในที่สุดแล้วเสียงร้อง”บังเอิ๊น บังเอิ๊น”จะสามารถกำชัยเหนือกว่าเพลงมาร์ชใน แบบหลวงวิจิตรวาทการได้หรือไม่

หากว่ากระหน่ำซ้ำไปด้วยเสียงร้อง”คิดถึงเธอ”ก้องกังวาน

เป็นการต่อสู้ในความขัดแย้งทาง”ความคิด”อย่างแน่นอน เป็นการยืนยันแรงปะทะระหว่าง”การเมือง”คนละขั้วที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

เพียงแต่”สื่อ”และส่ง”สาร”ด้วยลีลาแห่ง”บทเพลง”ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น