E-DUANG : การเลือก ในเชิง “ยุทธศาสตร์” ตัวอย่าง จาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

หากการเลือกทางยุทธศาสตร์ในยุค “ไม่เลือกเรา เขามาแย่”เกิดขึ้นภายใต้การชี้นำของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วที่เกิดขึ้นในยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีพรรคการเมืองใดชี้นำหรือไม่

ถามว่าจุดต่างระหว่างกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร กับกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต่างกันอย่างไร

ต่างกันตรงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ อย่างชัดเจน และอยู่ในห้วงแห่งการต่อสู้กับคนของพรรคเพื่อไทยอย่างหมัดต่อหมัด

นี่ย่อมสัมพันธ์จากปัญหาอ้นก่อรูปตั้งแต่ยุคก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และสัมพันธ์กับผลสะเทือนการยุบพรรค ไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนแนบแน่น

ตรงกันข้าม บทบาทของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือสร้างจุดยืนอันเป็นอิสระ ประกาศแยกจากพรรคการเมืองอย่างเด่นชัดแม้จะเคยเป็นรัฐมนตรี เคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

การต่อสู้ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเป็นการต่อสู้โดยตัวตนของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความสัมพันธ์แต่มิได้มีการชี้นำจากพรรคการเมืองใดอย่างแน่ชัด

1 ล้านคะแนนจึงเป็นของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยตรง

 

ความหมายก็คือ เป็นความไว้วางใจของคนกรุงเทพมหานครที่ไม่เพียงแต่เชื่อมั่นต่อเกียรติภูมิทางการเมืองของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

จึงสามารถแย่งยื้อมาได้ไม่ว่าจะจากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคพลังประชารัฐ

เป็นความมั่นใจว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะบริหารกรุงเทพ มหานครโดยไม่ผูกพันหรือสนองรับต่อจุดหมายและความต้องการ ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

เป็นความมั่นใจว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะดำรงความเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง และสามารถแปรนามธรรมแห่งนโยบายให้กลายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ

ความหมายก็คือ เป็นการเลือกตั้งในระดับ”ท้องถิ่น” มิได้เป็น การเลือกตั้งในระดับชาติ ในขอบเขตทั่วประเทศ

 

คะแนนและความนิยมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และของ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงอาจยึดโยงอยู่กับบางพรรคการเมือง แต่ก็มิได้ดำเนินไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เป็นเพียงการเลือกตั้ง”เฉพาะส่วน”มิใช่อย่างเป็นการ”ทั่วไป”

การเสนอกระบวนการเลือกตั้งในเชิง”ยุทธศาสตร์”โดยอาศัยพิมพ์เขียวจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงอาจไม่เป็นไปตามความคาดหมาย

ในสถานการณ์การเมืองของเดือนพฤษภาคม 2566