E-DUANG : “เดด ล็อค” จาก รัฐธรรมนูญ ยากที่ ความสงบ จะจบลงได้

ไม่ว่าความเชื่อต่อ”แนวโน้ม”ที่พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย จะถูกผลิตสร้างมาจากมันสมองของกลุ่มพลังใดใน ทางการเมือง

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะใน”ทางตรง” ไม่ว่าจะในทาง”อ้อม”

ไม่ว่าจะใน”ระยะสั้น” ไม่ว่าจะใน”ระยะยาว”

แม้ว่าโดยสภาพแห่งกฎกติกาซึ่งบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ จะบีบและกลายเป็นไฟท์บังคับให้จำเป็นต้องเลือกในการร่วมมือกันเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลก็ตาม

โดยพื้นฐานแล้วบทบัญญัติที่กำหนดให้ 250 ส.ว.มีอำนาจใน การเลือกนายกรัฐมนตรี 1 เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนเป็นนายกรัฐ มนตรีต้องเป็นคนแห่ง”ระบอบ”

ขณะเดียวกัน 1 บทบัญญัติเดียวกันนี้ก็กีดกันและทำให้ความพยายามในการร่วมมือกันระหว่างพรรคแห่ง”ระบอบ”กับปรปักษ์ยากลำบากยิ่งในการที่จะกลายกลืนมาเป็นหนึ่งเดียว

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะ”แลนด์สไลด์”ได้มากกว่า 300 เสียง อย่างที่หวังตั้งไว้และมั่นใจก็ตาม

 

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับขีดเส้นให้จำต้องมีหนทางอยู่หนทางเดียว นั่นก็คือ จะต้องยอมรับในการ”ไปต่อ”ของอำนาจแห่ง”ระบอบ”

นั่นก็คือ หากมิใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพียงแต่การทะยานไปก็วางอยู่บนฐานแห่ง”ความขัดแย้ง”

ถามว่าหากหลังการเลือกตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรียังเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สังคมจะรู้สึกอย่างไรและจะสามารถทนรับกับความคับแค้นต่อได้หรือไม่

หรือแม้เมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกอย่างถล่มทลายแต่ก็จำใจต้องประเคนมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สังคมจะรู้สึกอย่างไร

ถามว่าพรรคเพื่อไทยจะดำรงอยู่อย่างเป็นปรกติสุขหรือไม่

 

ความอึดอัดเป็นอย่างยิ่งที่แม้จะมีความพยายามในการปล่อยข่าว เรื่องยุบพรรคประสานกับข่าวรัฐประหารออกมาก็ใช่ว่าจะเป็นทาง ออกที่ราบรื่นชื่นบาน

เนื่องจากมี”คำประกาศ”ล่วงหน้าแล้วว่าพร้อม”ต่อต้าน”อาจเป็นคำประกาศที่จะลงเอยเหมือนรัฐประหาร 2519 เช่น เดียวกับรัฐประหาร 2534 เช่นเดียวกับรัฐประหาร 2549 และรัฐ ประหาร 2557

กระนั้น อัตราแห่ง”ความหงุดหงิด”ก็ทะยานอย่างไม่ขาดสาย