E-DUANG : เส้นแบ่ง การเมือง สังคมไทย บรรทัดฐาน ล่าสุด #เดี่ยว13

แท้จริงแล้ว บทบาทของ#เดี่ยว13 ดำเนินไปในลักษณะอันเป็นช่องระบายให้กับสังคม

โดย”โน้ต อุดม”เล่นบทเสนอ โดย”สังคม”เล่นบท”สนอง”

เมื่อการเสนอของ”โน้ต อุดม”ตรงกับความรู้สึก การสนองจาก”ประชาชน”จึงบังเกิด

เริ่มจากการจัด”เดี่ยว”ในหอประชุม ขายบัตร ตามมาด้วยการทำสัญญานำ#เดี่ยว13 ออกช่องทางสื่อ เพียง 1 วันเท่านั้นผลสะเทือนก็ปรากฏ

เพราะว่าเป็นช่องทาง”เน็ตฟลิกซ์” เบื้องต้นคนที่เป็นสมาชิกของช่องทางนี้ดูแล้วก็ส่งเสียงหัวร่อแสดงความชื่นชมเหมือนกับไป นั่งฟังอยู่ในหอประชุม

เสียงหัวร่อครืนๆในหอประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน ก็กระจายไปเป็นเสียงหัวร่อครืนๆในแทบทุกบ้านที่เป็นสมาชิกเน็ทฟลิกซ์ จากนั้นก็มีการโพสต์ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดีย

ครานี้ไม่ว่าภาพ ไม่ว่าเสียง ไม่ว่าถ้อยคำ สะท้อนความรู้สึก

ก็กลายเป็น”ไวรัล”อยู่ในความนิยม อยู่ในความสนใจของประชาชนในวงกว้างออกไปเป็นลำดับ

กระทั่งติดเทรนด์”ทวิตเตอร์”และกลายเป็น”ข่าวพาดหัว”

 

ความน่าสนใจอย่างยิ่งยวดอยู่ตรงที่มิได้มีแต่ความรู้สึกที่พึงพอใจและส่งเสียงหัวร่อดังครืน ครืนเท่านั้น หากแต่เนื่องจาก พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นคนธรรมดาอย่างสามัญ

การปะทะในทาง”ความรู้สึก”จึงบังเกิดขึ้นในพื้นที่”สาธารณะ” กลายเป็นบรรทัดฐานและมาตรวัดขึ้นมา

ตรงนี้แหละที่จะมิได้วัดเพียง”ความนิยม”ในเชิงชมชอบชมชื่นเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในหมู่ผู้ที่มิได้ชมชอบและชมชื่น

ด้านหนึ่งมีการกดไลค์ต่อ#เดี่ยว13 แต่อีกด้านหนึ่งมีความพยายามจะสร้างกระแสต่อต้านผ่าน#แบนเดี่ยว13 แต่ด้วยเวลาอันรวดเร็วแนวโน้มของสังคมก็เอนไปทางด้านใด

ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดความเกรี้ยวกราดในหมู่”คนรักลุงตู่”

และออกโรงแจ้งความกล่าวโทษโดยกระบวนการ”นิติสงคราม”

 

ที่เรียกว่า”นิติสงคราม”นั่นแหละคือเส้นแบ่งอย่างสำคัญยิ่งต่อบรร ยากาศและสภาพทางการเมืองในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นโรคระบาดในยุคสมัยแห่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สะท้อนให้เห็นปฏิบัติการ IO ทางด้านข่าวสารและยกระดับไปสู่การใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางกฎหมายเพื่อปิดปากอีกฝ่ายอย่างที่เห็นอย่างชุกชุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

นั่นก็คือ เมื่อสู้ไม่ได้ในทางความคิดก็เล่นงานทางกฎหมาย