E-DUANG : การปิดกั้น ภาพข่าว ชาวจะนะ ความเพ้อฝัน ในยุค “ออนไลน์”

ถามว่าเหตุใดก่อนการสลายการชุมนุมเพื่อรวบตัวชาวจะนะที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลจะเกิดขึ้นจึงต้องมีประกาศให้สื่อมวลชน ถอนตัวออกไปจากพื้นที่

คำตอบที่ตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ เพื่อให้มี”ภาพ”ในระหว่างการเข้าสลายการชุมนุมได้รับการบันทึกและนำไปเผยแพร่

มาตรการในลักษณาการเดียวกันนี้จึงกำหนดขึ้น ไม่ว่าจะในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ไม่ว่าจะในพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเข้มมากยิ่งขึ้น

จากสถานการณ์บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเห็นได้จาก ด้านหนึ่ง ดับไฟบริเวณที่ชาวบ้านชุมนุมอยู่ ด้านหนึ่ง ก็ส่องไฟเข้าใส่บริเวณที่สื่อมวลชนไปออกันอยู่

อย่างแรกก็เพื่อช่วยให้เดินหน้าเข้าสลายได้อย่างสะดวกราบรื่น อย่างหลังเพื่อกีดกันและทำให้การทำงานของสื่อมีความยากลำบาก

แต่ถามว่ามาตรการเข้มเหล่านี้สามารถสกัดขัดขวางได้หรือไม่

กล่าวสำหรับพื้นที่ของสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อาจจำกัดได้ แต่ยากเป็นอย่างยิ่งเมื่อเดินเข้าไปในโลก”ออนไลน์”

 

หากใครที่เป็นนักท่องโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นยูทูบ ก็จะประจักษ์ได้ในฉับพลันว่ายากที่จะขวางทางได้

คล้อยหลังการส่งกำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวเพียงไม่กี่นาทภาพจากเหตุการณ์ก็ปรากฏผ่านออนไลน์

ทั้งมิได้เป็นภาพนิ่ง หากแต่เป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับเสียง

ไม่ว่าจะเป็นเสียงหวีดร้องจากผู้ชุมนุมที่เป็นสตรี ไม่ว่าจะเป็นเสียงสวดภาวนาถึงพระอะหล่าจากปากผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการย่างสามขุมของตำรวจ การตกอยู่ในวงล้อมของชาวบ้าน

จากนั้นก็มีการส่งเสียงผ่านข้อความจากบรรดาสกุณาสำเนียง

ความรวดเร็วและฉับไวเป็นอย่างยิ่งก็คือ ข้อความของ ส.ส.ที่แนบแน่นอยู่กับปัญหาและความทุกข์ร้อนของประชาชน

มิได้มาจากพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย

 

ภาพและข่าวจากสถานการณ์การเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมชมิได้เป็นความลับในกลับสร้างคำถามและกลายเป็น”ประเด็น”ร้อน

ถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำถามนี้จะยิ่งดังกึกก้องเมื่อเข้าสู่สนาม”การเลือกตั้ง”