E-DUANG : อำนาจ ต่อรอง “ประชาธิปัตย์” ในสถานการณ์ การปรับครม.

สถานะทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ปลายเดือนกุมภาพันธ์เมื่อย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม เป็นสถานะซึ่งอำนาจในการต่อรองลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ

ลดน้อยถอยลงตั้งแต่ละล้าละลังต่อจังหวะก้าวในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

และยิ่งหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นเมื่อรัฐมนตรี 2 คนจากพรรค ประชาธิปัตย์ถูกขุดคุ้ยออกมากระทั่งเปล่าเปลือย ณ เบื้องหน้าการอภิปรายจากพรรคเพื่อไทย จากพรรคก้าวไกล

1 คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 1 คือ นายนิพนธ์ บุญญามณ๊ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

และเมื่อบรรดาแกนนำกปปส.จำนวน 30 กว่าคนอันมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้นำ ต้องคำพิพากษาจากศาลอาญา มรสุมนี้ก็ซัดกระหน่ำเข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์อย่างหนักหน่วง

ผลที่ตามมาก็คือ อำนาจในการต่อรองทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ลดน้อยและด้อยราคาลงเป็นลำดับ

 

ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนอย่างสำคัญในการเคลื่อนไหวของกปปส.โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การเคลื่อนไหวนี้คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับและอัตราที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าหัวหน้าพรรค ไม่ว่าที่ปรึกษาพรรค ไม่ว่าสมาชิกพรรค

สถานการณ์นี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องแตกและมีการแยกตัวตามมาเป็นเสี่ยงๆ ตั้งแต่ระดับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามมาด้วยระดับ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าพรรคกล้า ไม่ว่าพรรคไทยภักดี ล้วนมีคนของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับที่แตกต่างกัน

การแยกและแตกตัวเช่นนี้เองทำให้พลังภายในของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะระส่ำระสายขาดความเป็นเอกภาพ

 

มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงมากว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างมิอาจปัดปฏิเสธได้

สถานะและการดำรงอยู่ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์อาจได้รับผลกระทบและต้องมีการเปลี่ยน”ม้า”อย่างแน่นอน

ส่วนจะเป็นใครที่จะเสียบแทรกเข้าแทนที่อีกไม่นานมีคำตอบ