E-DUANG : ความหมายใหม่ กับ การต่อสู้ มองจากอดีต มาถึง “ปัจจุบัน”

ไม่ว่าการต่อสู้กับการรัฐประหารที่พม่า ไม่ว่าการต่อสู้กับรัฐบาลอันมาจากกระบวนการรัฐประหารในไทย มองในเชิงยุทธศาสตร์แล้วแทบไม่แตกต่างกัน

นั่นก็คือ การต่อสู้เพื่อสถาปนา”อำนาจ” ภายใต้กระบวนการในการนิยาม “ความหมาย”

พูดตามแบบ วิทยากร เชียงกูล คือ “ฉันจึงมาหาความหมาย”

ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาบท บาทและความหมายอย่างเก่า อย่างที่เรียกกันภายใต้ศัพท์แสงอลังการว่า ความหมายแห่งการรักษาอำนาจเดิม

ขณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการต่อสู้เพื่อกระหน่ำโจมตีไปยังความหมายเก่า สถานะแห่งอำนาจเดิม อันดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน และต้องการสถาปนาอำนาจนำ”ใหม่”

ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออย่างเช่นรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นปากกระบอกปืน ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออันเป็นหม้อไหและกะทะ

เหมือนกับปืนจะมากด้วยพลานุภาพ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน

 

ตามความเคยชินเดิมเมื่อเห็นคนพม่าลุกขึ้นมาแสดง”อารยะขัดขืน” ด้วยการตีเกราะเคาะหม้อไห ประสานกับการเปิดไฟและบีบแตรรถไปบนท้องถนน

หลายคนมองอย่างหมิ่นแคลน ประเมินว่าคงทำอย่างต่อเนื่องได้อีกไม่นาน

เหมือนกับเมื่อเห็นวิศวกรพม่าประกาศลาออกจากบริษัทสื่อสารใหญ่ เหมือนกับเมื่อเห็นนักศึกษาแพทย์ที่มัณฑะเลย์ ออกมาไปยืนชูป้ายต่อต้านการรัฐประหาร

ที่คาดหมายก็คือ เมื่อคนพวกนี้ถูกอำนาจรัฐรุกเข้าไปข่มขู่ คุกคามหรือจับตัวไปคุมขัง ไม่นานก็จะค่อยๆหายไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้ว กลายเป็นมหาชนเงียบไม่กล้าแสดงออก

กลไกแห่งอำนาจรัฐเดิมมีทั้งกฎหมาย มีทั้งตำรวจและทหารอยู่ในมือยากเป็นอย่างยิ่งที่จะแข็งขืนต่อสู้ได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเป็นฝ่ายอำนาจ”เดิม”ก็ย่อมเติบโตมาจากรากฐาน”เดิม”

 

ความเป็นจริงหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ บทบาทของคนพม่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แตกต่างไปจากบทบาทของคนพม่าเมื่อประ สบกับสถานการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2531

ไม่เพียงแต่สังคมพม่าเริ่มเปลี่ยน หากแต่คนพม่าก็เริ่มเปลี่ยนและปรับตัวไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆที่โถมซัดเข้ามา

นี่คือปัจจัยใหม่ในการต่อสู้และสร้าง”ความหมาย”ใหม่