E-DUANG : ​ความหงุดหงิด สถานการณ์ ฉุกเฉิน ​ความเดือดร้อน ในทาง “เศรษฐกิจ”

มีความพยายามแยก “เศรษฐกิจ” ออกจาก “การเมือง” มีความพยายามแยก “การเมือง” ออกจาก “เศรษฐกิจ” เหมือนกับ 2 ส่วนไม่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน

เมื่อมีเสียงเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีผู้โต้แย้งขึ้นว่า รัฐธรรมนูญจะมีประโยชน์อะไรถ้าหากท้องยังหิวอยู่

ความหมายก็คือ ต้องเน้นเศรษฐกิจก่อนการเมือง

เช่นนี้เองแม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีประเด็นการแก้ไขรัฐธรรม นูญเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ในการสนับสนุน พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มิได้เป็นเรื่องรีบด่วน ค่อยๆทำ ค่อยๆแก้ไขก็ย่อมได้

นั่นคือ รูปธรรมการแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง

 

พลันที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส พลันที่ผลสะเทือนจากมาตรการ”เข้ม”อันสัมพันธ์กับการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ปัญหาความสัมพันธ์ของ “เศรษฐกิจ” กับ “การเมือง”ก็หวนกลับมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นโดยอัตโนมัติ

แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจ การเมือง สัมพันธ์กันหรือไม่

การแพร่ระบาดของไวรัสมิได้มีผลแต่เพียงในทางสุขภาพเท่านั้น หากแต่ยังมีผลในการจัดระเบียบการดำรงชีวิตของประชา ชนอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ประชาชนจะยินยอมให้”สุขภาพ”อยู่เหนือ”เสรีภาพ”ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ด้วยระยะเวลาอันแน่นอนหนึ่งความเรียกร้องต้องการเสรีภาพก็เริ่มเกิดขึ้น

อาจจะยังเงียบๆในเบื้องต้น แต่พลันที่สภาพความเลวร้ายในทางเศรษฐกิจเริ่มมีความเด่นชัดสัมผัสได้ในทางรูปธรรม

ความเรียกร้องในเสรีภาพ ในทางการเมืองก็เริ่มรุนแรง

 

ต้องยอมรับว่าผลสะเทือนจากมาตรการ”เข้ม”ภายใต้การประกาศ และบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินมีจุดเริ่มต้นมาจากความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจ

ความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจนั้นเองทำให้การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มถูกท้าทาย

ท้าทายระหว่างกลัว”ไวรัส” กับกลัว”ความหิว”มากยิ่งกว่า

เมื่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ได้รับความเดือด ร้อน ความเรียกร้องต้องการในเรื่องเสรีภาพ ในเรื่องทางการเมือง จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

จากประเด็นทางสุขภาพ กลายเป็นประเด็นทางเสรีภาพ จากปัญหาเศรษฐกิจ กลายเป็นประเด็นทางการเมือง

กลายเป็นความหงุดหงิดไม่พอใจ ไม่มั่นใจ”รัฐบาล”