E-DUANG : ​​ไร้ระเบียบ ระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ​จากอำนาจรัฐ จากประชาชน

เมื่อมองภาพอันสะท้อนลักษณาการแห่งความไร้ระเบียบ การละเมิดขนบในทางกฎหมาย มักจะมองเห็นแต่ในด้านของชาวบ้าน ในด้านของประชาชน

อย่างเช่นกรณี “ชายจูบชาย” ในกรณีของ LGBTQ อย่างเช่นกรณีของ “อาม่าตบเด็ก”และเด็กเอาคืน

แต่มักจะมองข้ามบทบาทของ “รัฐ” ของ “กลไกอำนาจรัฐ”

ถามว่ากรณีของที่ดินกว่า 1,700 ไร่มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไรและมือแห่งกฎหมายที่ดำเนินไปอย่างผ่อนปรนมีรากฐานมาอย่างไร

ล้วนมาจาก “กรมป่าไม้” ล้วนมาจาก”ส.ป.ก.”

ถามว่ากรณีที่หลายคนซึ่งย้ายจากค่ายพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐแล้วได้รับการโปรโมชั่นอย่างเต็มที่

มิใช่การเปิดไฟเขียวให้ของ “รัฐ”และ”กลไกอำนาจรัฐ”หรอกหรือ

มีตัวอย่างมากมายอันกลายเป็นความกังขาในหมู่ประชาชน จากการ เลือกปฏิบัติ

อย่างเช่นกรณี ส.ส.ถือครองหุ้น “สื่อ”

ท่าทีต่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นอย่างหนึ่ง ท่าทีต่อ ส.ส.อื่นๆอีกจำนวนไม่น้อยกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง

เป็นท่าทีตั้งแต่ “ต้นธาร” ถึง “ปลายธาร”

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หมดสมาชิกภาพแห่งส.ส.ไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่คดีอันเกี่ยวกับ ส.ส.คนอื่นๆโดยเฉพาะที่อยู่ในพรรค ร่วมรัฐบาลกลับไม่มีอะไรคืบหน้า

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงนักการเมืองบางคนที่ย้ายจากค่ายเก่าไปอยู่ค่ายใหม่ สามารถรอดพ้นจากคดีความและกรงเล็บแห่งกฎหมายได้อย่างราบรื่น

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาวะไร้ระเบียบอันมาจาก “อำนาจรัฐ”ทั้งสิ้น

นักทฤษฎีในทางรัฐศาสตร์อาจสรุปจากความจัดเจนในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจากต่างประเทศหรือในประเทศก็ตามว่านี่คือ สถานการณ์ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

นั่นก็คือ บังเกิดสภาวะ “ไร้ระเบียบ” สังคมดำรงอยู่ในลักษณะ อันเป็น “อนาธิปไตย”

ไม่เพียงแต่ “ประชาชน” จะปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากมีการละเมิดกฎหมายโดย”อำนาจ รัฐ” ผ่านแต่ละ “กลไก” แห่ง”อำนาจรัฐ”

ในที่สุด ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็จะค่อยๆหมดไป