E-DUANG : เบื้องหลังจมูกของ “พิน็อกชิโอ”

ไม่ว่าการหยิบยก “พิน็อกชิโอ”ขึ้นมาในเชิงอุปมา ไม่ว่าการหยิบยก “เด็กเลี้ยงแกะ” ขึ้นมาในเชิงอุปมา

สะท้อนวัฒนธรรมตะวันตก

เด็กเลี้ยงแกะมีรากฐานมาจากนิทานอีสป พิน็อกชิโอรับรู้ผ่านภาพยนต์อันเป็นผลผลิตของ วอล์ท ดิสนีย์

มาจาก “ต่างแดน” ก็จริง

แต่ก็อยู่ในความรับรู้ของคนไทยเหมือนกับเป็นพี่เป็นน้อง เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง

เปรียบเปรยว่าเป็นคนชมชอบในการ “โกหก”

เมื่อเอ่ยเตือนว่า “อย่าทำตัวเป็นพิน็อกชิโอ” ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร เมื่อเอ่ยเตือนว่า “อย่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะ” ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร

ไม่จำเป็นต้องเล่าย้อนไปยัง “เรื่องเดิม”

 

การนำเอาภาพลักษณ์หรือนิยามแห่ง “พิน็อกชิโอ” มาอุปมาอุปมัยในทางการเมืองมิได้เพิ่งเกิดขึ้น

เกิดขึ้นมานานแล้ว

สำหรับคนที่ชอบพูดในเรื่องไม่จริง ชาวบ้านทั่วไปมองว่าเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้

บางครั้งก็ระบุว่าเป็นคนชอบ “โกหกคำโต”

ที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสรี

งัดเอาหน้ากากพิน็อกชิโอมาเป็นเครื่องมือจึงมิได้เป็นเรื่องใหม่

นักเขียนภาพล้อหลายคนก็เคยใช้วิธีการเสียดสีในแบบนี้

พลันที่ต่อจมูกของใครให้ยาวออกไปจากปกติก็รับรู้กันว่าต้องการล้อเลียนในเรื่องอะไร

นั่นก็คือ เห็นว่าชอบโกหก และเชื่อถือไม่ได้

 

มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเคยถูกล้อเลียนในแบบต่อจมูกให้ยาวเหมือนพิน็อกชิโอ

ที่เมื่อโกหก 1 ครั้งก็ยาวออกไป หลายครั้งก็ยิ่งยาว

เป็นเรื่องล้อกันสนุกสนาน สร้างความอับอายและเท่ากับเป็นตราประทับให้กับคนที่ถูกนิยาม

ประเด็นขึ้นอยู่กับว่าเป็นการล้อบนฐานความจริงหรือไม่

ประเด็นขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเสนอภาพจมูกยาวให้กับใครจะสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นบทสรุป “ร่วม” หรือไม่

หากชาวบ้านเห็นด้วยก็ร้องเฮกันเท่านั้นเอง