E-DUANG : สถานการณ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับบทเรียน  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การจุดกระแสวิพากษ์โจมตี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากความเขม่นในเรื่อง”ไลฟ์”ผ่านการวิ่ง ได้ทวีความร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับเมื่อเผชิญกับสถานการณ์”น้ำท่วม”

บรรยากาศแห่งการฟาดกระหน่ำทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ได้หวนมาอีกคำรบหนึ่ง

เป็นบรรยากาศอันชวนให้ระทึกเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

เพียงกระบวนการของ”ปฏิกิริยา”ได้สวนกันอย่างสิ้นเชิง ดังที่มีบางท่านสรุปออกมาอย่างรวบรัด จาก”เนื้อหา”และความเป็นจริงซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่

เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เป้าหมายโจมตี”นายกรัฐมนตรี”คือ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่มีความพยายามปกป้อง”ผู้ว่าฯกทม.” คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร

แต่สถานการณ์ในเดือนกันยายน 2565 เป้าหมายโจมตี”ผู้ว่าฯกทม.”คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะที่ปกป้องเครือข่ายของระบอบอันมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นตัวแทน

ยิ่งเจาะลึกไปยัง”ตัวละคร”แต่ละตัวซึ่งค่อยๆเผยแสดงตัวตนออกมายิ่งสัมผัสได้ในความร้อนแรงของสถานการณ์

และเกิดความเห็นใจ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างสูง

 

สังคมรับรู้”ปฏิกิริยา”ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สังคมสัมผัสถึงภาวะแห่งความหงุดหงิดไม่พอใจอันมาจาก นายสุชัชวีร์ สุวรรณ สวัสดิ์

และบังเกิดอาการ”ซาโตริ”เมื่อเห็นการตั้งข้อสังเกตอย่างมาก ด้วยเงื่อนปมจาก นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

แม้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะมีฐานมวลชนอันแข็งแกร่งในกทม.ไม่ยิ่งหย่อนไปจากฐานมวลชนอันแข็งแกร่งของ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระดับประเทศ

แต่เมื่ออีกฝ่ายมากด้วยประสบการณ์ มากด้วยเครือข่ายก็สา มารถบ่อนเซาะและทำลายความน่าเชื่อถือลงได้ผ่านกระบวนการในการบิเบือนและสร้างข่าว

      แม้ว่า นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งจะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง

แม้ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเพิ่งเข้ามาได้ 3 เดือนเท่านั้น

 

มีความจำเป็นที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะต้องอาศัยบทเรียนจากที่ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประสบมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัสเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555

เพราะนี่คือการวางหมุดในการ”ด้อยค่า”ทางการเมือง

นี่คือรากฐานหนึ่งซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกระทั่งบรรลุเป้าหมายในเดือนพฤษภาคม 2557

การวางหมุดในเดือนกันยายน 2565 จึงทรงความหมาย