E-DUANG : แปร ดนตรีในสวน เป็น “พลัง” รุกไล่ ยังพื้นที่ แห่ง”เผด็จการ”

จังหวะก้าวแห่ง”ดนตรีในสวน”ยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังได้ รับการแปรให้กลายเป็น”พลัง”ในทางสังคมบนทิศทางแห่งการเป็น”สะพานเชื่อม”อันทรงความหมาย

ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศอันสัมผัสได้จาก”ลานคนเมือง” ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศจาก”สุสานวัดดอน”

นี่คือปฏิบัติการสลาย”ศัสตรา” มาเป็น”แพรพรรณ”

ความเข้มข้น ดุเดือดจากที่เคยสัมผัสในบรรยากาศแบบ”ทะลุแก๊ส” ณ พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง กลายเป็นบทเพลงแห่งความรัก ความเข้าใจ

แม้จะประสบกับสภาวะเศรษฐกิจซึ่งบีบรัดมาโดยรอบ แต่บรรดาคนกรุงเทพฯก็ยังขานรับกับเสียงดนตรีด้วยความคึกคักสดใส

ไม่ว่าจะเป็นที่สวนรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นที่สวนลุมพินี ไม่ว่าจะเป็นที่สวนเบญจกิตติ ไม่ว่าจะเป็นที่มิวเซียม สยาม ไม่ว่าจะเป็นสุสานที่วัดดอน

ขณะเดียวกันบรรยากาศในสวนครูองุ่นก็ยังเข้มข้น ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการรำลึกถึง 90 ปี 24 มิถุนายน 2475 ที่ลานคนเมือง ข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ในความชื่นชมต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็แฝงไว้ด้วยความ หงุดหงิดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากด้านของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

เป็นความเปลี่ยนแปลงผ่านท่าทีของกระทรวงกลาโหมต่อคน

คนเห็นต่างในทาง”ความคิด”

เป็นความเปลี่ยนแปลงเมื่อภาพการชุมนุม ณ ลานคนเมือง ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยไม่มี”หน่วยควบคุมฝูงชน”ปรากฏพร้อมกับรถฉีดน้ำ

นี่คือรูปธรรมอันเนื่องมาจากการเคลือนไหวของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นี่คือรูปธรรมอันเป็นผลสะเทือนจาก”ทำงาน ทำงาน ทำ งาน”อย่างต่อเนื่อง

แม้กระทั่ง”ดนตรีในสวน”ก็สามารถส่งผลสะเทือน

 

บนพื้นฐานแห่งแนวทาง”ทำงาน ทำงาน ทำงาน”อย่างเป็นจริงได้ทำให้ภาพของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความเด่นชัด ตรึงตรากระ ทั่งกลายเป็นมิติใหม่ในทางการเมือง

ดำรงอยู่อย่างเป็น”อาวุธ”อันทรงพลังและความหมาย

แม้กระทั่งเสียงดนตรีที่ปรากฏขึ้นในแต่ละจุดของกรุงเทพมหานครก็ได้กลายเป็นกระบวนการอย่างมีระบบ

ในที่สุด “เพลงรัก”ก็สามารถเป็น”เพลงแห่งการต่อสู้”ได้