E-DUANG : ภาพเปรียบ แหลมคม การเมือง ระหว่าง พลังประชารัฐ เพื่อไทย

ยิ่งปรากฏข่าวปล่อยจาก”ภายใน”พรรคพลังประชารัฐ จาก”ภายใน”รัฐบาล ถี่ยิบและมากด้วยสีสันมากเพียงใด

ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบ”พลังประชารัฐ” กับ”เพื่อไทย”

แม้จากผลสะเทือนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อาจก่อให้เกิดการปะทะระหว่างพรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างคึกคักและเข้มข้น

เป็นความคึกคักและเข้มข้นยาวไกลผ่านพรรคพลังประชารัฐและมาจอดป้ายอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

กระนั้น ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มตกเป็นรอง ยิ่งเมื่อผ่านเหตุ การณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ยิ่งเด่นชัด

พลันที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พาพรรคพวกเดินออกจากหนทางรัฐสภาก่อรูปผ่านการเคลื่อนไหวของ”กปปส.”และนำไปสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

บทบาทและความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มเป็นรอง

โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้แม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่

จึงเหลือเพียงพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่สามารถไล่กวดตามพรรคเพื่อไทยได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

 

กระนั้น สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ก็มากด้วยการเคลื่อนไหว และตามมาด้วย การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

เปลี่ยนจากยุค นายอุตตม สาวนายน เข้าสู่ยุค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

และเมื่อเกิดสถานการณ์เดือนกันยายน 2564 มีความขัดแย้ง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รุนแรงและแหลมคม พรรคพลังประชารัฐก็เริ่มนับถอยหลัง

เป็นการนับถอยหลังขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จำเป็น ต้องไปสร้างพื้นที่ทางการเมืองต่างหาก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการรุกเข้าไปในพรรคพลังประชารัฐ

สถานะของพรรคพลังประชารัฐจึงยิ่งเป็นรองพรรคเพื่อไทย

 

บรรดาเกจิทางการเมืองจึงแทบมิได้ให้ความสนใจต่อพรรคพลังประชารัฐ และให้ความสำคัญกับข่าวปล่อยที่สะท้อน พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าไปแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กว่า

เป้าหมายก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งเพื่อชิงชัยกับ”เพื่อไทย”

คำถามอยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถตกลง กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยความเรียบร้อยราบรื่นหรือไม่และอย่างไร

ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังทะยานไปข้างหน้าอย่างคึกคัก