E-DUANG : แนวทางเลือง เชิง “ยุทธศาสตร์” กับ ภูมิทัศน์”ใหม่”ของการเมือง

ข้อเสนอในแนวทาง”เลือกเชิงยุทธศาสตร์”มาพร้อมกับชุดความจัดเจนในทางการเมืองชุดหนึ่ง

ยกบทเรียนจากต่างประเทศโดยเฉพาะของ”มาเลเซีย”

เป็นข้อเสนอที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 เป็นข้อเสนออันมาจากเกจิทางการเมืองในปีกของพรรคเพื่อไทย

เป็นข้อเสนออันเปี่ยมด้วยความปรารถนาดี ต้องการเห็นความ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในฝ่ายที่เรียกตนเองว่า”ประชาธิปไตย”เพื่อปิดกั้นการสืบทอดอำนาจของ”เผด็จการ”

แม้ว่าในการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ข้อเสนอนี้จะไม่ได้มีการขานรับและปฏิบัติ ความพยายามนี้ก็ยังมีอยู่ และปรากฏขึ้นหลายครั้งระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม

เป็นข้อเสนอที่เปี่ยมด้วยความปรารถนาดีและต้องการเห็นการ

ผนึกพลังของฝ่าย”ประชาธิปไตย”ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเด่นชัด ไม่มีข้อตำหนิใดๆในทางการเมือง

และข้อเสนอนี้จะยิ่งมีรูปธรรมเด่นชัดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งในสนาม”ผู้ว่าฯกทม.”ปรากฏขึ้นและมากด้วยความแหลมคม

 

น่าสนใจก็ตรงที่ข้อเสนอการเลือกในเชิง”ยุทธศาสตร์”กลับกระหึ่มขึ้นในโค้งสุดท้าย เพียงแต่มิได้มาจากปีกของฝ่ายประชาธิปไตย ตรงกัน ข้าม กลับมาจากอีกปีกหนึ่งทางการเมือง

เห็นได้จากข้อเสนอของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เห็นได้จากข้อ เสนอของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

นั่นก็เพราะเห็นอย่างเด่นชัดว่าคะแนนและความนิยมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สูงเด่นและดำรงอยู่อันดับ 1 ตั้งแต่ต้นจนเกือบจะจบจึงต้องมีข้อเรียกร้อง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

คำถามก็คือ ข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อเสนอของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง สามารถตกผลึกเป็นยุทธศาสตร์เดียวหรือไม่

 

สถานการณ์ก่อนวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม สะท้อนออกอย่างเด่นชัดว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก

เดือนพฤษภาคม 2565 ไม่เหมือนเดือนมีนาคม 2562

และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาพการเมืองก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และสภาพการเมืองก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ฤดูกาลทางการเมือง”เปลี่ยน” การต่อสู้ก็เริ่ม”เปลี่ยน”