E-DUANG : หยาดน้ำตา จาก ธงชัย วินิจจะกูล กับ ปรากฏการณ์ เยาวรุ่น รุ่นใหม่

หากถามว่า “หมุดหมาย” อันคมแหลมอย่างที่สุดซึ่งสะท้อนขึ้นมาจากงานรำลึก”45 ปี 6 ตุลา”คืออะไร

บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับ”ธงแดง”เหนือ “ตึกโดม”

ขณะที่จำนวนไม่น้อยประทับใจกับภาพเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งเข้าแถวยืนไว้อาลัยหน้ากำแพงอนุสรณ์สถาน มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

และจำนวนไม่น้อยตื่นตะลึงกับภาพของเด็กชายวัย 11 ทีถูกจับและขนาบโดยหน่วยควบคุมฝูงชน จากสถานการณ์การชุมนุมในพื้น ที่สามเหลี่ยมดินแดงในคืนของวันที่ 6 ตุลาคม

กระนั้น หากใครได้รับฟังคำสารภาพขณะหยาดน้ำตาเอ่อท้นใน 2 เบ้าตาของ นายธงชัย วินิจจกูล คนซึ่งปราศรัยยาวเหยียดอยู่บนเวทีเมื่อ 45 ปีก่อนก็จะเข้าใจ

เข้าใจในบทบาทและความหมายของคำว่า”สะพานเชื่อม”

ในฐานะคนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฎกรรมทางการเมืองอย่าง นายธงชัย วินิจจะกูล ย่อมถอนหายใจโล่งอก

พลันที่”คบไฟ”ได้ถูกส่งต่อไปยังมือของ”เยาวรุ่น”สมบูรณ์

 

ไม่ว่าคนในยุคเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าคนในยุคเดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าคนในยุคเดือนพฤษภาคม 2535 ย่อมบังเกิดความหดหู่และสิ้นหวังเมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์รัฐประหาร 2 หน

หนแรกเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หนที่สองเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งอยู่ภายใต้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งเหนื่อย

เมื่อได้เห็นการลุกขึ้นมาของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อเดือนกรกฎาคม ประสานเข้ากับ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ในเดือนสิงหาคม กระทั่งพัฒนาเป็น”คณะราษฎร 2563”ก็คึกคักสดใส

แต่แล้วเมื่อประสบเข้ากับการใช้”นิติสงคราม”อย่างต่อเนื่อง จับ

คนรุ่นใหม่คนแล้วคนเล่าเข้าไปอยู่ ณ เรือนจำ ก็เริ่มหดหู่ สิ้นหวังอีก

 

งานรำลึก”45 ปี 6 ตุลา” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงจุดประกายแห่งความหวังให้กับสังคมให้ลุกโชนขึ้นมาอีกวาระหนึ่งจากการรดน้ำพรวนดินของคนรุ่นใหม่

การรับ”ไม้”ต่อโดย”คนรุ่นใหม่”ต่างหากที่เสริมพลังแกร่งขึ้น

ท่ามกลางการร่วงโรยลงไปเป็นลำดับของคนรุ่นตุลาคม 2516 คนรุ่นตุลาคม 2519 คนรุ่นพฤษภาคม 2535

เยาวรุ่นที่รัก เธอเหมือนอาทิตย์ยามอุทัย โลกนี้เป็นของเธอ