E-DUANG : สัมพันธ์ ชาวบ้าน กะ”ทะลุแก๊ซ” เหมือนเลือดกับเนื้อ ปลากับน้ำ

กรณีของการชุมนุม”ทะลุแก๊ซ”เป็นอีกกรณีหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุด อันแหลมคมยิ่งในการต่อสู้ทางด้านข่าวสารและข้อมูล

ต้องยอมรับว่า”ทะลุแก๊ซ”เกิดขึ้นพร้อมกับ “คำถาม”

แม้จะมีจุดเริ่มจากสถานการณ์การเคลื่อนไหวของ”คาร์ม็อบ”ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่เมื่อมีความต่อเนื่องไปยัง”คาร์ปาร์ค”ในตอน เย็นของวันที่ 15 สิงหาคม

การแสดงออกของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่เดินทางจากแยกราช ประสงค์ไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง เพื่อดึง”มวลชน”จำนวนหนึ่งให้ถอนตัวคือรูปธรรมอันเด่นชัด

เด่นชัดว่า ไม่ว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไม่ว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ก็มิได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ”ทะลุแก๊ซ”เพราะหวั่นว่าจะเข้าทางของฝ่ายที่ต้องการเห็นความรุนแรง

แต่แล้วเมื่อ”ทะลุแก๊ซ”ยืนหยัดในแนวทางของตนอย่าง่ต่อเนื่อง  

จากเดือนสิงหาคมกระทั่งทะลุเดือนกันยายน สายตาที่ทอดมองไปยัง”ทะลุแก๊ซ”ก็เริ่มแปรเปลี่ยน

ถามว่าการแปรเปลี่ยนจาก”ระยะห่าง”เข้ามา”เห็นใจ”อย่างไร

 

คำตอบหนึ่ง คือการได้เห็นลักษณะยืนหยัด แน่วแน่ มั่นคงของเยาวชน”ทะลุแก๊ซ”ที่เคยเริ่มอย่างไรก็ดำรงอยู่อย่างนั้นภายใต้หลัก การที่ไม่เคยมีคำประกาศ

ไม่มีแกนนำ ไม่มีการปราศรัย กรอบแห่งความรุนแรงที่มีอยู่เพียงแต่ระเบิดเพลิง หนังสติ๊กและการวางเพลิงเผาในเชิงสัญลักษณ์

จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบอันมาจาก”หน่วยควบคุมฝูงชน”หรือที่เรียกว่า”คฝ.” ไม่ว่าจะเป็นกระสุนยาง ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตา ไม่ว่าจะเป็นรถฉีดน้ำแรงดันสูง

คำตอบหนึ่ง มาจากการเข้าไปสังเกตการณ์ของสังคมทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงการประกอบส่วนของ”ทะลุแก๊ซ”

กระทั่งสามารถตีฝ่าการปิดล้อมทางด้าน”ข่าวสาร”ออกมาได้

 

การรายงานสถานการณ์จากสื่อมวลชน”อิสระ”เมื่อประสานเข้ากับความเป็นจริงของ”ทะลุแก๊ซ”ทำให้สื่อมวลชน”กระแสหลัก”เริ่มเข้าไปแวดล้อม

ความเป็นจริงอัน”จริงแท้”จึงค่อยแผ่แบให้สังคมได้รับรู้

จุดแข็งซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของ”ทะลุแก๊ซ”ก็คือ การได้รับการปกป้องและคุ้มครองจาก”ชาวบ้าน”อย่างอบอุ่น

เป็นความสัมพันธ์เหมือนเลือดกับเนื้อ เหมือนปลากับน้ำ