E-DUANG : บทเรียน จาก โดนัลด์ ทรัมพ์ บทเรียน จาก การเมืองสหรัฐ

ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 20 มกราคม อันเป็นกำหนดสิ้นสุดการอยู่ในตำแหน่ง ประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัพม์ และเป็นวันเริ่มต้นเป็นประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน

ยิ่งสะท้อนให้เห็น “บทเรียน” มากหลายไม่เพียงแต่ต่อสังคมอเมริกันเท่านั้น หากที่สำคัญยังเป็นอนุสติให้กับชาวโลก

นั่นก็คือ ยิ่งอยากรั้งดึงเพียงใด ก็ยิ่งหลุดลอยไปเพียงนั้น

โดนัลด์ ทรัมพ์ สำแดงอย่างเด่นชัดว่าไม่ต้องการพ้นไปจากการ เป็นประธานาธิบดี เขาถึงกับวางกลยุทธ์ดักทางล่วงหน้าว่าจะมีการ

โกงการเลือกตั้ง

เท่ากับเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ในทางความคิด ในทางความเชื่อเอาไว้ว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นมิได้เป็นความพ่ายแพ้ตามความ เป็นจริงหากแต่เป็นการเล่นเล่ห์จากอีกฝ่าย

อย่าได้แปลกใจหาก โดนัลด์ ทรัมพ์ พร้อมกระทำทุกอย่างแม้กระทั่งโกหก บิดเบือนหลอกลวงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้

คนโกหกแบบเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมพ์ มีให้เห็นมากมาย

 

ลองนำเอาการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาพิจารณา ลองนำเอาการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาพิจารณา

ทบทวนแต่ละคำพูดของ “แกนนำ” ทบทวนคำมั่นสัญญาที่ดังกึกก้องอยู่บนเวทีปราศรัย

อย่างเช่นคำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันเป็นหลักคิดและแนวทางที่ผู้นำการรัฐประหารนำมาอ้างอิงแม้กระทั่งในแถลงการณ์และบทเพลงผลออกมาเป็นอย่างไร

อย่างเช่นคำว่า “แช่แข็ง” ประเทศไทย อย่างเช่นคำว่า “ชัตดาวน์” ประเทศไทย ในที่สุดแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านมาเป็นทศวรรษผลซึ่งสังคมไทยประสบเป็นอย่างไร

เมื่อมองดู โดนัลด์ ทรัมพ์ แล้วหวนกลับมาพิจารณากรณีของประเทศไทยก็มีอะไรมากมายที่ละม้ายเหมือนและใกล้เคียง

หรือแม้กระทั่งในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

สัจธรรมจาก โดนัลด์ ทรัมพ์ สะท้อนอย่างเด่นชัดถึงความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจ ความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้อำนาจอยู่ในกำมือของตน

เมื่อหน้ามืดตามัวอย่างเต็มเปี่ยมจึงขาดไร้ซึ่งความละอายใดๆในทางการเมือง

พร้อมจะโกหกมดเท็จ พร้อมจะบิดเบือน หลอกลวง

ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ จะกระทำเพื่อยื้อยุดอำนาจเอาไว้ ในที่สุดแล้ว อำนาจก็จะหลุดลอยไปท่ามกลางการสาปแช่งจากสังคม