E-DUANG : จังหวะ การเมือง พลังประชารัฐ จากสมอง ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐต่อการเคลื่อนไหวของ”ม็อบมุ้งมิ้ง”ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม กระทั่งล่าสุดเมื่อเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิมายังทำเนียบรัฐบาลสมควรให้ความสนใจ

ไม่เพียงเพราะว่าพรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น

หากแต่ยังอยู่ในสถานะแห่ง”ประธานยุทธศาสตร์”

การได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานยุทธศาสตร์และเป็นหัวหน้าพรรค ย่อมเชื่อได้ว่าจังหวะก้าวของพรรคพลังประชา รัฐจะต้องเข้มด้วยยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในทางการเมือง

ไม่ว่าจะแสดงออกผ่าน นายสิระ เจนจาคะ ไม่ว่าจะแสดงออกผ่าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และรวมถึงการแสดงออกผ่าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน

เด่นชัดว่า ทาง 1 ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทาง 1 ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ”ราษฎร”

นี่ย่อมเป็นการปะทะโดยตรงกับข้อเสนอเมื่อ 21 ตุลาคม

 

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐก็อีหรอบเดียวกันกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม จะมีคำเรียกร้องให้แต่ละฝ่าย”ยอมถอย”กันคนละก้าว

แต่ในตอนค่ำวันเดียวกันนั้นก็มีการบุกเข้ารวบตัว “น้องมายด์”ในยามวิกาลและนอกเครื่องแบบ

และในเช้าวันต่อมารองหัวหน้าพรรคคนหนึ่งซึ่งเป็น ส.ส.และเป็นรัฐมนตรีก็จัดชุมนุมมวลชนในจังหวัดอันเป็นพื้นที่ของตนด้วยการสวมเสื้อเหลืองอย่างคึกคัก

จากนั้นก็มีแถลงจากบรรดาโฆษกพรรคพลังประชารัฐให้ ส.ส.ของตนดำเนินการเคลื่อนไหวในจังหวัดของตนเพื่อแสดงความจงรักภักดีและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่ย่อมมีรากฐานมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค พลังประชารัฐอย่างไม่ต้องสงสัย

ดำเนินการ”ถอย”อย่างมีลักษณาการ”รุก”อย่างเข้มข้น

 

จากนี้จึงพอจะคาดหมายบรรยากาศการเผชิญหน้าในทางการเมือง อย่างเด่นชัด ภายใต้ร่มธงของรัฐบาล ภายใต้อิทธิพลของพรรคพลัง ประชารัฐ

คำถามก็คือ เป็นปฏิบัติการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์

หรือว่าเป็นปฏิบัติเพื่อสร้างและขยายรอยร้าวในทางการเมืองให้ใหญ่กว้างออกไปเป็นทวิทวีคุณยิ่งขึ้น

      นี่คือการเมืองในยุคแห่งการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ