E-DUANG : ​​สถานการณ์ ชุมนุม ยุคดิจิทัล ปรากฏ ต่อหน้า แบบเรียลไทม์

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์หลังการเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์หลังการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2535 มัก จะมีคนเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นเสมอ

ไม่เพียงแต่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

ไม่เพียงแต่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เท่านั้น

ตรงกันข้าม ในห้วงเดือนตุลาคม 2516 ทหารและตำรวจต้องถอดเครื่องแบบออกชั่วคราว เพราะกระแสความไม่พอใจในหมู่ประ ชาชนทะยานขึ้นสูงเป็นอย่างสูงยิ่ง

เช่นเดียวกับในห้วงเดือนพฤษภาคม 2535 เมื่อออกนอกกรมกองบรรดาทหารทั้งหลายก็ต้องทำตัวให้ลีบ เพราะสายตาที่ทอดมอง จากประชาชนไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก

แนวโน้มของสถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2563 ก็เริ่มเห็นเด่น ชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับจากเสียงตะโกนอันดังมาจาก”ม็อบ”

ไม่ว่าจะเสียง”ออกไป ออกไป” ไม่ว่าจะเสียง”ขี้ข้าเผด็จการ”

 

เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 อาจอยู่ในยุคแห่ง”อะนาล็อก” ภาพการชาร์จเข้าจับกุมก็เห็นแต่เพียงในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

หากแต่เมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องมายังเดือนตุลาคม 2563 สภาพการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ในเบื้องต้นภาพการเข้าล็อกตัว”แกนนำ”อาจไม่ปรากฏผ่านสื่อหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์มากนัก หากแต่ดังกึกก้องผ่านสื่อออนไลน์อย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นภาพการลากตัว นายอานนท์ นำพา ไม่ว่าจะเป็นภาพการพยายามอุ้มร่างอันท้วมสมบูรณ์ของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เข้าสู่รถ

ยิ่งภาพการทุบกระจกรถและพยายามจะรวบตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก ราวกับอาชญากรฆ่าต่อเนื่อง ยิ่งอึกทึกครึกโครม

ยากอย่างยิ่งที่จะปิดข่าวได้ในยุคแห่ง”ดิจิทัล”

 

องค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นภาพการจับกุม ล้วนเป็นเรื่องและภาพอันปรากฏในลักษณะ”เรียลไทม์”แทบไม่ต้องรอคอย

บทบาทของ”เจ้าหน้าที่”เป็นอย่างไร บทบาทของ”เหยื่อ”ถูกจับ

ล้วนอยู่ในสายตา ล้วนอยู่ในความรับรู้ก่อให้เกิดอารมณ์ทั้งสะใจและโกรธแค้นตามมาอย่างกะทันหัน

ผลสะเทือนจะตามไปหลังสถานการณ์จบสิ้นแน่นอน