E-DUANG : สงคราม การชิง ”พื้นที่” การเมือง 19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร

ไม่ว่าการต่อสู้ของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน

ในที่สุดแล้วล้วนเป็นการต่อสู้ในการชิง”พื้นที่”และสร้าง”ความ หมาย”ในทางการเมือง

เพราะว่าการชุมนุมของ”เยาวชนปลดแอก”ในวันเสาร์ที่ 18 กรก ฎาคม เปิดฉากขึ้น ณ บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบนถนนราชดำเนิน

เพียง”อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เพียง”ถนนราชดำเนิน”ก็มีบท บาทและทรงความหมายเป็นอย่างสูง

ขณะที่การเคลื่อนไหวของ”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”พุ่งเป้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหากมีจำนวนมากเพียงพอก็อาจต้องไปค้างแรม ณ ท้องสนามหลวง

ทั้งยังเลือกเอาวันเสาร์ที่ 19 กันยายนอีกด้วย

ไม่ว่าวันที่ 19 กันยายน ไม่ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าท้องสนามหลวงล้วนเป็นพื้นที่และวันสำคัญในทางประวัติศาสตร์

 

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน ย่อมพ้องกับสถานการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อันเป็นหมุดหมายซึ่งกลายเป็นเส้นแบ่งของทศวรรษแห่งความมืดมน

ยิ่งผ่านเข้าสู่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งมากด้วย ความอับเฉาสิ้นหวัง

จึงไม่แปลกที่”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”จะตัดสินใจย้ายจากที่เคยจัด ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สอดรับกับมนต์ขลังแห่งบทกวี”ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระ จันทร์ ก็ขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม” อันก้องกังวานมาตั้งแต่ยุคมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(มธก.)

ยิ่งกว่านั้น ยังมีเป้าหมายที่จะแวะไปเยี่ยมเยียน”สนามหลวง”

ก่อนเคลื่อนขบวนไปบนถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล

 

อย่าได้แปลกใจหากจะมีกระแสการคัดค้านต่อต้านมาจากบางกลุ่ม บางฝ่ายซึ่งล้วนแต่เคยมีส่วนกับรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

“19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” จึงเป็นการชุมนุมสำคัญ

สำคัญในประเด็นการเคลื่อนไหว สำคัญในการช่วงชิง”พื้นที่”ในทางความคิด ในทางการเมือง