E-DUANG : การปะทะ ความคิด 2 ยุค ยุคอะนาล็อก กับ ดิจิทัล

การสนทนาว่าด้วย AI ระหว่าง แจ็ค หม่า กับ อีลอน มัสค์ ส่องสะท้อนระยะห่างในทาง”ความคิด”ของคนทั้ง 2 ได้อย่างเด่นชัด

ทั้งๆที่ได้ชื่อว่าอยู่ในแวดวง IT เช่นเดียวกัน

เพราะคนหนึ่งมีรากฐานอยู่กับวัฒนธรรมหยิน หยาง มีความ เชื่อมั่นในความล้ำเลิศของมนุษย์ หรือเพราะอีกคนหนึ่งเติบใหญ่มากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นเป็นเรื่องของเจ้าพ่อ IT ระดับโลก

ถ้าวาง อีลอน มัสค์ กับ แจ็ค หม่า เรียงเคียงข้างกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะมิยิ่งห่างไกล และหากนำไปวางเรียงเคียงข้างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะยิ่งโกลาหล

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง IT และ AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในโลกและสังคมไทย

 

มองจากด้านครอบงำของโลก นี่คือยุคแห่ง IT กล่าวสำหรับพื้นที่สื่อ อินเตอร์เน็ต ได้เข้ามาครอบครองและเป็นด้านหลักในทางเป็น จริง

สื่อกระจกคือสื่อกระแสหลัก สื่อกระดาษคือสื่อกระแสรอง

ความเป็นจริงนี้อาจเริ่มเป็นที่ยอมรับ แต่ถามว่าเป็นการยอม รับในทาง”เนื้อหา” หรือว่าเป็นการยอมรับในทาง”รูปแบบ”

มองผ่านเข้าไปยังบทบาทของนักการเมืองจะสัมผัสได้

เมื่อประสบเข้ากับกรณี”ถวายสัตย์” เมื่อประสบเข้ากับกรณี “เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์” ทั้งๆที่ทั้งหมดนี้สะท้อนการแพร่กระ จายของอินเตอร์เน็ตอย่างชัดแจ้ง

สะท้อนการรุกเข้ามาของยุค”ดิจิทัล”อย่างเป็นรูปธรรม ถึงเลือดถึงเนื้อ

น่าสนใจก็ตรงที่กระบวนการรับมือยังเป็นแบบ”อะนาล็อก”

เมื่อกระบวนการรับมือแบบ”อะนาล็อก”ถูกตีกลับด้วยกระบวนการรุกไล่แบบ”ดิจทัล”กลับยังตายใจด้วยความมึนชา

มองไม่เห็นภัยที่จะตามมานั้นรุนแรง ล้ำลึกเพียงใด

 

ปมเงื่อนจึงอยู่ที่ว่าคนในแวดวงการเมืองของสังคมไทยยังจมปลัก อยู่กับการเมืองในยุค “อะนาล็อก” ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเมืองในยุค”ดิจิทัล”ได้

จึงยังมีความสุขกับการเอาตัวรอดในแบบ”อะนาล็อก”ตามความเคยชินเก่า

จึงไม่เข้าใจถึงการรุกคืบของ”ดิจิทัล”ที่เข้ามาครอบงำ