E-DUANG ; ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งรับ เศรษฐกิจ การเมือง “สภา”

ไม่ว่าจะมองจากสถานะทางด้าน “การทหาร” ไม่ว่าจะมองจากสถานะทางด้าน “การเมือง”

จุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่น่าจะเป็นจุดเด่น

เด่นเพราะว่าเคยเป็น ผบ.ทบ. เด่นเพราะว่าเคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เด่นเพราะว่าทุกวันนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหม

เด่นเพราะว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี”

สถานะอันอยู่ในกำมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นับแต่หลังการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2562 น่าจะเป็นจุดอันได้เปรียบ

ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการทางทหาร ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการทางการเมือง

 

แต่อาการอันกำลังเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เป็นต้นมายังอยู่ในความได้เปรียบทางการทหารและทางการเมืองอยู่หรือ

ในทางนิตินัยอาจเป็นเช่นนั้น

แต่ในทางความเป็นจริง ในทางการแสดงออกเชิงพฤติกรรม กลับเป็นความเหนือกว่าในลักษณะของการตั้งรับ

สัมผัสได้จากอาการ”หนีสภา”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หนีไปยะลาในวันพุธที่ 7 และหนีไปเล่นชักกะเย่อในวันพุธที่ 14 สิงหาคม เห็นกันอย่างจะๆในสายตาของชาวบ้าน

นั่นก็คือ การหนีจากกระทู้ถามสมจาก นายปิยบุตร แสงกนก กุล ในเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ

เท่านั้นยังไม่พอในการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าคะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้านมาแล้ว 2 หน

หากนับการตั้งรับทางด้านเศรษฐกิจเข้าไปอีกถือว่าสถานะ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความหนักหนาสาหัสขึ้น

 

สถานะอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบในขณะนี้ถือได้ว่าเป็นสถานะอย่างใหม่

แตกต่างจากหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 แน่นอน

แตกต่างจากความฮึกห้าวเหิมหาญจาก 55 เสียงในที่ประชุม รัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน แน่นอน เพราะนี่คือสภาพตั้งรับ

ไม่ว่าทางสภา ไม่ว่าทางการเมือง ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ