E-DUANG : ปฎิบัติการ ยกระดับ ความคิด เสื้อผ้า หน้าผม กับวัฒนธรรม

เมื่อใดที่มีการบรรจุระเบียบเรื่องการแต่งกายของ ส.ส.เข้าสู่วาระ การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อนั้นปัญหาของเสื้อผ้า หน้าผมจะได้รับการยกระดับกลายเป็นปัญหาระดับชาติ

หากมองอย่างผิวเผินเหมือนกับเรื่องการแต่งองค์ทรงเครื่องจะไร้สาระ ไม่ควรมีการถกแถลงในระดับรัฐสภา

แต่หากมองไปในแต่ละ”บริบท” ก็จะต้องตะลึงตึงตึง

แล้วก็ประจักษ์ว่าเหตุใดจึงต้องมีการแต่งตัวของ ส.ส.อันอยู่ในข่ายของ LGBT อย่างนั้น

แล้วก็จะประจักษ์ในเจตนาของ”พี่เก้ง” ของ”พี่บุญเรือง”

และในที่สุดก็จะต้องร้องอ๋อว่าเหตุใด พี่ช่อพรรณิการ์ วานิช จึงต้องปรากฏเงาร่างในชุด”กลิ่นกาสะลอง”อย่างนั้น

      นี่คือการนำร่อง นี่คือการจุดประกาย

 

ไม่ว่า”ป้าพรทิพย์” ไม่ว่า”ลุงยุทธนา”ลองมโนจินตนาการดูซิเพียงเอ่ยถึงคำว่า “สากลนิยม” ขึ้นมาประกอบกับการแต่งเครื่องแบบจะมีอะไรตามมา

เพราะคำว่า”สากลนิยม”ย่อมคู่กับ”ไทยนิยม”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อจุดเริ่มต้นมาจากชุดไทยล้านนาอันเป็นผลสะ เทือนจาก”กลิ่นกาสะลอง” ที่ตามมาก็คือ ชุดไทยอีสาน ชุดไทยมุสลิม และชุดไทยภาคกลาง

ยิ่งมีการอภิปรายถกแถลงเนื้อหายิ่งจะได้รับการยกระดับไปถึงเสรีภาพ และอัตลักษณ์

แม้แต่คำว่า”กาละ” และ”เทศะ”ก็ละเอียดอ่อน

เพราะปัญหาในทาง”วัฒนธรรม”นั้นมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆว่างเปล่า ตรงกันข้าม จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับสภาพในทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแนบแน่น

เห็นหรือไม่ว่าแค่เสื้อผ้า หน้าผมก็สะท้อนให้เห็นทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะคึกคักและมากด้วยสีสัน

 

บางคนอาจชี้นิ้วไปยัง “อีช่อ” ว่าเป็นต้นตอของปัญหา ของการถก เถียงอภิปราย กระนั้น ในที่สุดแล้วก็เพราะ”อนาคตใหม่”

อุบัติแห่งพรรคอนาคตใหม่จึงดำเนินไปอย่างทะลุทะลวงไปในแต่ละพื้นที่ในทางความคิดด้วยความแหลมคมและด้วยความตั้งใจ

เพราะว่า”อนาคตเรากำหนดเอง”มิใช่หรือ