E-DUANG : ยุทธการ ไม่เอา ประยุทธ์ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองต่อคสช.และต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าสนใจ น่าศึกษา เพราะว่าสามารถแยกจำแนกได้ 3 กระบวนท่าที่แตกต่างกัน

1 ท่าทีในแบบพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

นั่นก็คือ ปฏิเสธตั้งแต่ต้น ไม่ว่าในเรื่องการสืบทอดอำนาจ ไม่ ว่าผลพวงของ 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามา

1 ท่าทีในแบบพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์

นั่นก็คือ รอระยะหนึ่งจึงได้ปฏิเสธและด้วยกระบวนท่าที่ยอก ย้อน แตกต่างกัน พรรคประชาธิปัตย์เน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคภูมิใจไทยเน้นไปที่ 250 ส.ว.

1 ท่าทีในแบบพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา

นั่นก็คือ เป็นท่าทีที่ไม่สะท้อนท่าทีอะไรเลย

 

ท่าทีในแบบพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เหมือนกับจะรุนแรง แข็งกร้าว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลสะเทือนในเชิงเปรียบเทียบค่อน ข้างสูง

อย่างน้อยก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยจำเป็นต้องแสดงท่าทีต่อบทบาทของ 250 ส.ว.

นั่นก็คือ ยกสถานะ 500 ส.ส.ขึ้นมาสูงเด่น

อย่างน้อยก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องแสดงความแจ่มชัดในห้วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันที่ 22 มีนาคม ประกาศ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ก็พร้อมจะร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐหากเห็นชอบกับ การไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

การตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะช้าในเชิงเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ แต่ก็มีผลสะเทือนในลักษณะตอ่เนื่อง

ต่อเนื่องไปยังพรรคพลังประชารัฐ ต่อเนื่องไปยังพรรคชาติไทยพัฒนา ต่อเนื่องไปยังพรรคชาติพัฒนา

 

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ จะตัดสินใจเร็ว ไม่ว่าพรรค ภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ จะตัดสินใจช้า ไม่ว่าพรรคชาติไทย พัฒนา พรรคชาติพัฒนา จะละล้าละลัง

แต่ทั้งหมดล้วนเป็นปรากฏการณ์ ล้วนมีผลกระทบ

แต่ก็มีผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งไปยังพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ตำบลกระสุนตก