E-DUANG : “อำนาจแข็ง” ห้วง ประชามติ “อำนาจอ่อน” ห้วง “เลือกตั้ง”

บรรยากาศ “การเลือกตั้ง” ที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เริ่ม มีการนำไปเปรียบเทียบกับบรรยากาศ “ประชามติ”เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 3 ปี

มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ชัยชนะจาก”ประชามติ”จะต่อเนื่องและกลายเป็นชัยชนะของ “การเลือกตั้ง”

เมื่อ “สภากลาโหม” มีมติให้กองทัพวางตัวเป็นกลาง

นั่นหมายความว่า จะไม่มีการสนธิกำลัง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ในนาม”กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย”(กกล.รส.) ออกไปในชุมชน

แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางการเมือง

นั่นก็ต้องติดตาม “รัฐบาล” กับ “พลังประชารัฐ”

 

ความคึกคักก่อนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ประชาชนสามารถสัมผัสได้จาก 2 ส่วนสำคัญ

เห็นได้จากความเร่าร้อนของ “รัฐบาล”

การเร่งผลิตนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุ่มงบประมาณ จำนวนมหาศาลลงไป

การโหมประโคมในเรื่อง “บัตรสวัสดิการคนจน”

ขณะเดียวกัน บทบาทของพรรคพลังประชาชนในการเชื่อม ประสานเข้ากับนโยบายของรัฐบาล ถึงระดับอาจมีการหยิบยืมมาเป็นประโยชน์

ลำพังการใช้ชื่อเป็น”พรรคพลังประชารัฐ”ก็สะท้อนความสนิท แนบแน่นอย่างยิ่งอยู่แล้ว

การทอดเวลาลาออกของ 4 รัฐมนตรียิ่งแหลมคม

เพราะว่าการอนุมัติแต่ละโครงการในที่ประชุมครม.ล้วนแต่มี 4 รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งสิ้น

นี่คือ จุดที่”อำนาจรัฐ”เข้ามามีส่วนในการเก็บคะแนนนิยม

 

หากบรรยากาศ“ประชามติ” คือ การใช้อำนาจแข็งผ่าน”กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย”(กกล.รส.)

บรรยากาศ”การเลือกตั้ง”คือ การใช้ “อำนาจอ่อน”

เป็นอำนาจอ่อนของการประสานการอนุมัติเงิน”งบประมาณ” ของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคพลังประชารัฐได้ต่อยอดเก็บเกี่ยวคะแนน

สร้างความคึกคัก มั่นใจให้กับ”พลังประชารัฐ”