​​​E-DUANG : การต่อสู้ เชิงวัฒนธรรม ความคิด ​​​เมื่อ”โบราณ” ปะทะ “สมัยใหม่”

การสัประยุทธ์ภายใต้”ศึกยิ่งลักษณ์”แม้จะใช้พื้นที่ “สื่อ”เป็นเครื่อง มือ แต่เนื้อหาอยู่ในโครงครอบในเชิง”วัฒนธรรม”

เป็นวัฒนธรรมความเชื่อ “โบราณ”

คนหนึ่ง โพสต์ข้อความอย่างแยบยลแม้จะอิงอยู่กับสถาน การณ์จากปัจจุบัน คือ ครม.สัญจรไปยังระยองแต่อาศัยฐานข้อมูลเก่า

ในยุคที่คนโพสต์ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ในยุคที่เป้าหมายซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไประยองเคยดำรงตำแหน่งเป็น “ผบ.ทบ.”

ความหมายก็คือ จำได้ไหมว่าเคยเป็น “ลูกน้อง”มาก่อน

 

ความน่าสนใจก็คือ เมื่อเดินทางจากระยองไปถึงชุมพรและรับรู้ว่า มีผลสะเทือนจากการล้อเลียนและพาดพิงไปยังชื่อ”ยิ่งลักษณ์”

การตอบโต้ก็ดำรงอยู่บนฐานทาง”วัฒนธรรม”

นั่นก็คือ หยิบยกอุทาหรณ์จากนิทานเก่าแต่โบราณว่าด้วยปูว่าเป็นเครื่องมือในการประชดประเทียด

ให้เดินตาม”พ่อปู” อย่าเดินตาม”แม่ปู”

ผลก็คือ พรมแดนการสัประยุทธ์ขยายจากเรื่องของอดีตกลายเป็นเรื่องของความเชื่อในทางสังคม

เพราะว่า “ปู” เป็นนิกเนมของ”เป้าหมาย”

และเมื่ออุปมาถึง”พ่อปู”ฉันใด กับ อุปมัยถึง”แม่ปู”ฉันนั้นก็ทำให้ย้อนกลับไปยังเพศสภาพอันเป็นความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสังคมไทย

เพราะอีกคนเคยเป็น”ผบ.ทบ.” ถือได้ว่าเป็น “ชายชาติทหาร” องอาจ หาญกล้า

เพราะอีกคนเป็นนายกรัฐมนตรี”สตรี”คนแรก

พลันที่เหยียบเข้าสู่พรมแดนแห่งเพศสภาพฝ่ายของสตรีย่อมได้เปรียบเมื่อเทียบกับชายชาตรีองอาจหาญกล้า

คะแนนย่อมเป็น”แม่ปู”มากกว่า

 

การพาดพิง การตอบโต้ และปฏิกิริยาอันเป็นเงาสะท้อนตามมาอยู่ในพื้นที่ของ”สื่อ”ทั้งสิ้น เป็นสื่อ”หนังสือพิมพ์” เป็นสื่อ”ออนไลน์”

เมื่ออ่านแต่ละ “ข้อความ”ก็หวนนึกถึงบุคลิกของแต่ละคนมาเป็นเครื่องเคียงขนานว่าใครเป็นใคร

เป็นการเอาความคิด”โบราณ”ต่อสู้ผ่าน”เทคโนโลยี”ใหม่