รู้จัก “ราชพิพิธภัณฑ์” หนึ่งใน “มรดกคณะราษฎร” ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ

โดย เชตวัน เตือประโคน

วันที่มีการประชุมทางวิชาการ นำเสนอรายงานการศึกษาชิ้นนี้เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ “ราชพิพิธภัณฑ์”

เจ้าภาพการจัดงานหลักนั้นคือ “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)”

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทำงานและผู้สนใจในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเพื่อรวบรวมความรู้ทางด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา ทั้งในมิติของทฤษฎีและปฏิบัติ

มีผู้นำเสนอผลงานถึง 49 คน

ปราการ กลิ่นฟุ้ง นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ คือหนึ่งในนั้น กับผลงานที่เขาสนใจศึกษา จนทำให้เกิดความสนใจเข้าไปร่วมรับฟังการนำเสนอซึ่งมีชื่อว่า “ราชพิพิธภัณฑ์กับชาตินิยมคณะราษฎร”

ในวันนี้ สพร. ได้คัดสรรบทความจากการประชุมดังกล่าว มาตีพิมพ์รวมเล่ม และสามารถอ่านแบบออนไลน์ได้ด้วย (https://issuu.com/academic-museumsiam/docs/94) ในชื่อเล่มว่า “พิ(ศ)พิธภัณฑ์” ทำให้ได้ทบทวนงานศึกษาของปราการอีกครั้ง และพบว่ามีหลายสิ่งที่น่าสนใจนำมาขบคิดต่อ

เป็นอีกมุมหนึ่งของการศึกษาเรื่องราว “คณะราษฎร” ที่ยังไม่ค่อยมีผู้พูดถึงเท่าไหร่นัก

ที่มา ที่ไป
อะไรคือ “ราชพิพิธภัณฑ์”

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือที่เราเรียกกันว่า “ปฏิวัติ 2475” สถานะของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไป กิจการในราชสำนักถูกกำกับ การใช้พระราชอำนาจตามการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ากษัตริย์ไม่สามารถประกอบพระราชกรณียกิจใดๆ ได้ด้วยพระองค์เอง ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หลักการดังกล่าวนี้เอง ทำให้มีการตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปราการ ระบุว่า “ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ถือว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของรัฐ ทรัพย์สินที่เป็นขององค์กษัตริย์มีเพียงทรัพย์สินส่วนพระองค์เท่านั้น ในการนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำการตรวจสอบทรัพย์สินในความดูแลของพระคลังข้างที่ ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์หรือไม่ ทรัพย์สินใดที่มีการร้องเรียนจากราชวงศ์ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เมื่อตรวจสอบได้ความสอดคล้องกันแล้ว ก็จะส่งมอบคืนแก่เจ้าของ

“แต่หากว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์ ก็จะดำเนินการเก็บรักษาไว้เป็นของรัฐ”

ทรัพย์สินในลักษณะหลังนี่เองที่รัฐสามารถเข้าไปจัดการได้ โดยมีสำนักพระราชวัง และกระทรวงการคลัง ทำหน้าหน้าที่ดูแล และในที่สุดรัฐบาลก็มีความคิดในการที่จะนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจัดแสดงต่อสาธารณะ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมกัน

แนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังการลสะราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ทว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยังไม่ลงตัวเรื่อง “ผู้รับผิดชอบ”

กระทั่งมาถึงรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

และคราวนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบ โดยให้พิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นต่อสำนักพระราชวัง โดยมีคณะกรรมการจากองค์กรอื่นร่วมด้วย ได้แก่ อธิบดีกรมคลัง เลขาธิการพระราชวัง อธิบดีกรมศิลปากร และประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

เป็น “คณะกรรมการจัดการราชพิพิธภัณฑ์” ซึ่งมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธาน

“ราชพิพิธภัณฑ์” ใช้ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่จัดแสดง มีพิธีเปิดในงานฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน 2483 เปิดทำการสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอาทิตย์ และวันพุธ เข้าชมเป็นรอบ รอบละ 1 ชั่วโมง วันอาทิตย์เปิด 4 รอบ ส่วนวันพุธเปิด 2 รอบ ค่าเข้าชมวันอาทิตย์เก็บ 50 สตางค์ วันพุธเก็บ 1 บาท

นับเป็นครั้งแรก ที่มีการจัดการแสดง “ทรัพย์สินกษัตริย์” ในฐานะที่ประชาชนเป็น “เจ้าของร่วม”

สืบเนื่องอุดมการณ์ “เก่า”
มูลเหตุแห่งความ “ล้มเหลว”(?)

ถึงตอนนี้ หลายคนอาจรู้สึกอยากไปเยี่ยมชม “ราชพิพิธภัณฑ์” บางคนอาจจินตนาการถึงทรัพย์สินที่อลังการ งดงามตระการตา อย่างชนิดที่คิดไม่ออกเลยว่า ชาตินี้จะมีโอกาสได้เห็นหรือไม่

ต้องขอแสดงความเสียใจ เพราะปัจจุบัน “ราชพิพิธภัณฑ์” ได้ปิดตัวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2484

รวมระยะเวลาในการเปิดดำเนินการเพียง 1 ปี ครึ่งเท่านั้นเอง

แต่กระนั้นก็มีแง่มุมให้ได้ขบคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดังที่ ปราการ บอกว่า แม้จะเปิดดำเนินการอยู่ไม่นาน ราชพิพิธภัณฑ์ก็สะท้อนสภาวการณ์ทางภูมิปัญญาร่วมสมัยในขณะนั้นได้อย่างน่าสนใจ หากพิจารณาจากบทบาททางภูมิปัญญาของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งเป็นผู้ผลิตงานเขียนตอบสนองต่อนโยบายชาตินิยม+เชื้อชาตินิยมของรัฐบาลคณะราษฎร ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดเนื้อหาของราชพิพิธภัณฑ์ ทั้งการคัดสรรวัตถุจัดแสดงและการสร้างคำอธิบายวัตถุเหล่านั้น รวมทั้งลักษณะบางประการของวัตถุที่นำมาจัดแสดง ทำให้เรามองเห็นว่า ราชพิพิธภัณฑ์นั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการเมืองระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยกำลังปลุกกระแสเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

“แต่ที่สำคัญนั้น เป็นการสะท้อนถึงกรอบความรู้ทางประวัติศาสตร์ของผู้นำยคุใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ที่ยังคงติดอยู่กับเพดานความรู้เดิมที่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ปราการ ระบุ

ปราการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของที่จัดแสดง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มพระราชกรณียกิจ อาทิ พระที่นั่งสำหรับการเสด็จกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารถ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง พระราชลัญจกรที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์จักรี

2. กลุ่มเครื่องราชูปโภค อาทิ เครื่องใช้ในการเสวย เครื่องทรง เครื่องประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องราชูปโภคในสมเด็จพระศรีพัชรีนทราบรมราชินีนาถ

และ 3. กลุ่มพระราชสงคราม อาทิ พระราชยานที่กษัตริย์ในอดีตทรงใช้ในการออกศึก พระแสงอาวุธต่างๆ ที่น่าสนใจคือ พระแสงอาวุธและเครื่องทรงที่เชื่อกันว่า เคยออกศึกจริงๆ พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงของ้าว และพระมาลาเบี่ยง ที่แม้ไม่มีรายละเอียดระบุบอก แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเกี่ยวเนื่องกับวีรกรรมของสมเด็จพระนเศวร นั่นเอง

เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมด ปราการ จึงสรุปไว้อย่างน่าคิดว่า…

“วัตถุจัดแสดงในราชพิพิธภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการสร้างความรู้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ด้านหนึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตอันหรูหรามั่งคั่งของชนชั้นนำสยาม อีกด้านหนึ่งแสดงถึงวีรกรรมในสงครามของพระมหากษัตริย์ในอดีต ในด้านหลังนี้มีส่วนส่งเสริมความคิดชาตินิยมของการเคลื่อนไหวเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในช่วงสงครามอินโดจีน

“อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน เนื้อหาว่าด้วยการพระราชสงครามในราชพิพิธภัณฑ์ก็แสดงให้เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับอดีตที่ส่งอิทธิพลต่อปัญญาชนสยามหลัง 2475 ก็คือความรู้ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง”

อาจกล่าวได้ว่า แม้ “คณะราษฎร” จะทำการปฏิวัติและเปิด “โลกใหม่” ขึ้นมาให้กับสยามประเทศ

แต่อุดมการณ์ที่ใช้ในการ “สร้างชาติ” ก็ยังคงเป็น “ของเก่า” ที่สืบเนื่องมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บทสรุปของความล้มเหลวของ “ราชพิพิธภัณฑ์” ที่ทำให้ต้องมีการปิดตัวไป (นอกจากเรื่องญี่ปุ่นบุกในวัน 7 ธันวาคม พ.ศ.2484)

ปราการ เสนอไว้คือ เพราะความคิด “ชาตินิยม” ของคณะราษฎรที่สร้างขึ้น (หนึ่งในนั้นคือการต่อต้านคนจีน) ไม่ประสบความสำเร็จ (คนจีนจำนวนมากเป็นพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ) และอีกมูลเหตุคือ “เนื้อหา-สาระ” ของสิ่งที่จัดแสดงได้กลับไปเชิดชูอุดมการณ์เก่า อันเป็นความ “ต่อเนื่อง” มากกว่าจะเป็นการ “แตกหัก” กับอำนาจเดิม

มองว่านี่อาจเป็นสิ่ง “สำคัญ” ที่สุดเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกัน ก็น่าคิดต่อด้วยว่า แล้วบทบาทของฝ่ายอนุรักษนิยมในขณะนั้น ต่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอย่างไร อำนาจเดิมที่ว่า มีตำแหน่งแห่งหนอยู่ตรงไหนบ้าง นับแต่มีการริเริ่มจัดตั้ง กระทั่งจัดแสดง และที่สุดก็ปิดตัวลง