ปริศนาโบราณคดี: ประเทศไทยเคยเกิด“น้ำท่วมใหญ่” จริงเท็จแค่ไหน ดูที่ชื่อ“พระเจ้าน้ำท่วม”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หมายเหตุ : บทความนี้คัดลอกส่วนหนึ่งมาจากบทความ จาก “พระเจ้าน้ำท่วม” ถึงสายน้ำเชี่ยวกรากยุค “นารีขี่ม้าขาว” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ เผยแพร่ครั้งเเรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 พ.ย. 2554

มีด้วยหรือกษัตริย์ถิ่นแดนแคว้นใดที่อุตริมีชื่อว่า “พระเจ้าน้ำท่วม” นอกเหนือไปจากตำนานปรัมปราเรื่องพระแก้วมรกตที่เรียกขาน พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งกรุงอินทปัตถ์ กษัตริย์ขอมผู้ไม่ทรงทศพิธราชธรรมว่า “พระเจ้าน้ำท่วม” เป็นเหตุให้ต้องมีการย้ายพระแก้วมรกตไปอยู่กรุงอโยธยาแล้ว

เชื่อว่านอกเหนือจากนิทานเรื่องนี้คนทั่วไปก็แทบไม่เคยได้ยินได้ฟังว่ามีพระเจ้าน้ำท่วมที่ไหนอีกเลย

ท้าวน้ำถ้วมแห่งล้านนา กษัตริยาผู้เป็นกบฏ

“พระเจ้าน้ำท่วม” องค์แรกที่จะกล่าวถึงนี้ มีชื่อในภาษาล้านนาว่า “ท้าวน้ำถ้วม” มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของพระญามังราย กล่าวคือเป็นโอรสองค์ที่สองของพระญาไชยสงคราม (ขุนคราม)

อย่าสับสนเข้าใจผิดตามข้อความที่โพสต์ลอกต่อๆ กันให้ว่อนเน็ต โดยอ้างพงศาวดารเชียงตุงที่ระบุถึงปี พ.ศ.1786 (โห! ปีศักราชนี้ในความเป็นจริงพระญามังรายเพิ่งกำลังหัดเดินเตาะแตะ) ว่าพระญามังรายได้ส่ง “ราชบุตร” องค์หนึ่งชื่อเจ้าฟ้าน้ำท่วมให้มาครองเมืองเชียงตุง ขอย้ำอีกครั้งว่าท้าวน้ำถ้วมเป็นหลานปู่ไม่ใช่ลูก!

ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในเรื่อง “กู่ยิง” ว่าพระญามังรายมีโอรสเพียงสามองค์ ได้แก่ ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ ขุนเครื่องถูกพ่อสั่งยิง ขุนครามได้เป็นกษัตริย์ ขุนเครือกลายเป็นกบฏ โทษฐานลอบเป็นชู้กับชายาของพี่ชาย!

ฝ่ายขุนครามเองก็มีโอรสอีกสามองค์ องค์โตชื่อท้าวแสนภู เหตุเพราะเกิดบนภูเขา องค์กลางชื่อ “ท้าวน้ำถ้วม” เชื่อกันว่าเกิดตอนน้ำท่วมครั้งใหญ่ องค์สุดท้องชื่อท้าวน้ำน่าน จากนามน่าจะบ่งชี้ว่าเกิดที่แม่น้ำสายนั้น

ขุนครามขึ้นนั่งเมืองที่เชียงราย แล้วยกเชียงใหม่ให้โอรสองค์โตคือท้าวแสนภู แต่แล้วอนุชาของพระองค์คือขุนเครือ เมื่อรู้ว่าขุนครามประชวรใกล้สิ้นพระชนม์ รีบยกทัพจากเมืองนาย (ในรัฐไทใหญ่) มาล้อมเชียงใหม่ ทำนองชิมลางหมายจะตีท้ายครัว ด้วยลึกๆ แล้วมีใจปฏิพัทธ์รักใคร่ในพระมหาเทวีพี่สะใภ้นั้่นอย่างล้ำลึก

ท้าวแสนภูเกรงใจอาไม่อยากเสียเลือดเสียเนื้อจึงรีบเดินทางไปแจ้งแก่พระราชบิดาที่เชียงราย ขุนครามสั่งให้โอรสองค์รองคือท้าวน้ำถ้วม ขณะนั้นครองเมืองฝาง ยกทัพมาปราบขุนเครือ

ท้าวน้ำถ้วมสามารถจับส่งตัวกบฏอามาให้เสด็จพ่อ เมื่อทำคะแนนเข้าตากรรมการข้ามหัวพี่ชายเช่นนี้ พระราชบิดาจึงปูนบำเหน็จยกให้นั่งเมืองเชียงใหม่แทน ส่วนท้าวแสนภูนั้นย้ายมาเป็นอุปราชที่เชียงราย

แต่แล้วด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ผ่านไปเพียงแค่สองปี (เฉพาะชินกาลมาลีปกรณ์ที่ระบุต่างไปจากเล่มอื่นว่า 7 เดือน) เป็นไปได้ว่าท้าวน้ำถ้วมอาจแสดงอาการอะไรที่ส่อถึงความล้ำเส้นจนไม่น่าไว้วางใจ พงศาวดารบอกแต่เพียงว่า “พระญาไชยสงครามเกิดระแวงว่าท้าวน้ำถ้วมอาจมีใจคิดคดก่อการกบฏในภายหน้า จึงสั่งให้ท้าวน้ำน่านพระอนุชา จับท้าวน้ำถ้วมควบคุมตัวส่งไปรั้งเมืองเชียงตุง หรือเขมรัฐตุงคบุรีนั้นเสีย”

ขุนครามเคยใช้มือลูกคนรองจัดการน้องชายตัวเองด้วยข้อหากบฏ ในที่สุดก็ต้องใช้มือลูกชายคนเล็กเผด็จศึกลูกคนรอง ทั้งๆ ที่เคยช่วยปราบกบฏมาก่อน ไปๆ มาๆ ต้องกลายมาเป็นกบฏด้วยอีกคน

ขณะนั้นเชียงรายคือเมืองหลวง เชียงใหม่คือเมืองลูกหลวง แถมแว่นแคว้นล้านนายังแผ่อาณาบริเวณไปถึงเชียงตุงหรือเขมรัฐในเขตพม่าจรดสิบสองปันนา

เมื่อส่งท้าวน้ำถ้วมไปยังดินแดนไกลโพ้น แถบแม่น้ำขึนเขตไทเขินแล้ว จึงได้สถาปนาท้าวแสนภูผู้แสนดีไม่มีเขี้ยวเล็บกลับไปนั่งเมืองเชียงใหม่ในฐานะยุพราชดังเดิม

ส่วนน้องเล็ก ท้าวน้ำน่านต่อมามีอีกชื่อว่า ท้าวงั่วเชียงของ ให้นั่งเมืองหน้าด่านริมฝั่งโขงที่เชียงของ เมื่อขุนครามสิ้นพระชนม์ท้าวแสนภูขึ้นเสวยราชย์ ไม่ปรากฏบทบาทท้าวงั่วเชียงของอีกเลย

ปัญหามีอยู่ว่านักประวัติศาสตร์บางท่านได้นับการครองราชย์ที่เชียงใหม่ของท้าวน้ำถ้วมไว้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งในลำดับที่สามแห่งราชวงศ์มังรายด้วย แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้งว่าไม่ควรนับ เพราะแค่รั้งเมืองขัดตาทัพในช่วงสั้นๆ ซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏอีก

ที่แน่ๆ พงศาวดารเมืองเชียงตุง ยกย่องว่าปฐมกษัตริย์ของนครเขมรัฐมีชื่อว่า “ท้าวน้ำถ้วม” ผู้เป็นทายาทสืบสายโลหิตมาแต่พระญามังราย (เอาเถอะ แม้จะเขียนไว้สับสนหาว่าเป็นลูก ซึ่งในความจริงเป็นหลานก็ตาม)

มีข้อน่าสังเกตว่าชาวไทเขินจากเชียงตุงที่อพยพมาอยู่ในล้านนาเมื่อ 200 ปีก่อน เป็นชาติพันธุ์เดียวที่มีความกระหยิ่มยินดีที่ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิของเจ้าฟ้ามหาชีวิตท้าวน้ำถ้วม ชาวเชียงตุงไม่รู้สึกว่าการถูกกวาดต้อนมาอยู่ในล้านนาครั้งนั้น คือการเข้ามาในฐานะชาวต่างด้าวแต่อย่างใด

พระญางั่วนำถุมแห่งสุโขทัย พระร่วงจมน้ำ?

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรสุโขทัยก็มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าน้ำท่วมเหมือนกัน แต่ภาษาสุโขทัยอ่านว่า “พ่องั่วนำถุม” หรือ “พระงั่วนำถม”

“งั่ว” แปลว่า “ห้า” เนื่องจากเป็นกษัตริย์ลำดับที่ห้าแห่งกรุงสุโขทัย ส่วน “นำถุม” แปลว่า “น้ำท่วม”

เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “นำถุม” นี้ ยังมีความสับสนอยู่ สามารถสันนิษฐานได้สองประการ

ประการแรก อาจนำคำว่า “นำถุม” มาจากนามของ “พ่อขุน (ศรี) นาวนำถุม” ผู้เป็นพระสหายกับ “พ่อขุนบางกลางท่าว” ทั้งสองช่วยกันปลดแอกขอมละโว้และก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ปฐมกษัตริย์แห่งสุโขทัยคือพ่อขุนบางกลางท่าว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สายนี้มีรัชทายาทสืบราชวงศ์ต่อมาอีก 3 องค์คือ พ่อขุนบาลเมือง พ่อขุนรามคำแหง และพระญาเลอไท

แต่แล้วกษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระญาเลอไทกลับมีนามว่่า “พ่องั่วนำถุม” ทำให้พอจะมองเห็นเชื้อสายว่าน่าจะเป็นหลานปู่ของ “พ่อขุนนาวนำถุม” สายนี้คงจ้องรอจังหวะอยู่นานพอสมควรกว่าจะช่วงชิงบัลลังก์มาได้จากสายศรีอินทราทิตย์

ประการที่สอง บางทีชื่อพ่องั่วนำถุม อาจไม่เกี่ยวข้องกับพ่อขุนนาวนำถุม แต่เรียกตามเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ หากไม่ใช่ในปีที่เกิด ก็อาจเป็นปีที่เสวยราชย์ หรืออาจเป็นปีที่สิ้นพระชนม์ เหตุเพราะในพงศาวดารบางเล่มมีการพูดถึงกษัตริย์องค์หนึ่งก่อนยุคพระญาลิไทว่ามีฉายา “พระร่วงจมน้ำ” หรือพระเจ้าอุทกโชตถตะ ความหมายว่าเป็นกษัตริย์ที่จมน้ำหายไปในแก่งหลวงศรีสัชนาลัย

แต่กรณีนี้ก็มีผู้เห็นแย้งว่า คำว่า “พระร่วง” นี้น่าจะสงวนไว้ใช้กับกษัตริย์ที่สืบสายมาจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เท่านั้น บางท่านจึงตั้งคำถามว่าหรือ “พระร่วงจมน้ำ” จักหมายถึง “พระญาเลอไท” ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี เงื่อนงำการมาและการไปของพ่องั่วนำถุม เห็นจะไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของกษัตริย์สุโขทัยองค์อื่นๆ เท่าใดนัก คือถูกมองว่าได้ราชบัลลังก์ต่อจากพระญาเลอไทด้วยการก่อกบฏ ฉวยโอกาสขณะที่พระญาเลอไททรงพระประชวร ซึ่งพระญาลิไทก็ยังทรงพระเยาว์ พ่องั่วนำถุมรีบปราบดาภิเษกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1883-1890

พระญาลิไทต้องหนีราชภัยไปครองศรีสัชนาลัยอันเป็นเมืองลูกหลวงแทน

กระทั่ง 6 ปีผ่านไป พระญาลิไทหวนกลับมาช่วงชิงราชบัลลังก์คืน ในพงศาวดารใช้คำว่าด้วยการ “ปราบกบฏพ่องั่วนำถุม”

ซึ่งหากพระร่วงจมน้ำเป็นพ่องั่วนำถุมจริง ย่อมสะท้อนภาพวาระสุดท้ายของกษัตริย์พระองค์นั้นว่าอาจถูกจับถ่วงน้ำหรือกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย (ในกรณีที่ชื่อมาหลังตัว หากชื่อน้ำท่วมมาก่อนการครองราชย์ ก็ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพระร่วงจมน้ำ)

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่จริงเท็จแค่ไหน
ทำไมกษัตริย์ภาคเหนือถึงสองพระองค์
จึงได้รับการขนานนามว่าพระเจ้าน้ำท่วมทั้งคู่?

ไม่มีการระบุถึงปีเกิดของท้าวน้ำถ้วม เราทราบแต่เพียงปีครองราชย์ของท้าวแสนภูว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ.1868-1877 ส่วนช่วงที่ท้าวน้ำถ้วมครองเชียงใหม่ 7 เดือน (หรือ 2 ปี) นั้นทรงมีพระชนมายุ 30 ชันษา ถือว่ายังอยู่ในปลายรัชสมัยของพระญาไชยสงคราม ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1854-1868 สรุปแล้วท้าวน้ำถ้วมน่าจะประสูติราวปี พ.ศ.1835-1837

ส่วนพ่องั่วนำถุมแห่งสุโขทัย นักประวัติศาสตร์บางท่านนับให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นทรราช ทำให้นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษ์ลบชื่อทิ้งไปเสียอีกราย โดยนับพระญาลิไทต่อจากพระญาเลอไทเลย พ่องั่วนำถุมครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1883-1890 เมื่อเทียบศักราชกับท้าวน้ำถ้วมแล้ว เห็นว่าท้าวน้ำถ้วมเกิดก่อนพ่องั่วนำถุมร่วม 50 ปี

สรุปแล้วเมื่อ 700 ปีก่อน แผ่นดินภาคเหนือของไทยทั้งล้านนาและสุโขทัย เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างน้อยสองหนห่างกันครึ่งศตวรรษ

แม้ไม่มีการบันทึกไว้เป็นกิจจะลักษณะ แต่เรารับรู้ได้ผ่านชื่อของกษัตริย์ ซึ่งเราเชื่อกันว่าหากไม่มีอุทกภัยในดีกรีขั้นร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นตอนเกิด ตอนเสวยราชย์ หรือตอนสิ้นพระชนม์ อยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากเฉลิมพระนามอันไม่ค่อยเป็นมงคลว่า “น้ำท่วม” ให้แก่กษัตริย์เท่าใดนัก

บังเอิญเหลือเกินที่พระเจ้าน้ำท่วมทั้งสององค์ อยู่ในฐานะกบฏทั้งคู่ ซ้ำยังหายสาบสูญไปจากความทรงจำของประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งคู่เช่นกัน