“เจ้าแม่กวนอิม” แต่เดิมก็เป็นผู้ชาย และทำไมถึงกลายมาเป็นผู้หญิง?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ก่อนหน้าที่ “กวนอิม” จะกลายมาเป็น “เจ้าแม่” (แถมยังเป็นเจ้าแม่ในระดับสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง จนได้ถูกอัญเชิญมาเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ ของครีมแต้มสิว และรอยด่างดำของใบหน้า หรือแก้มก้น รวมไปถึงช่วยข้อศอกให้หายด้านได้ ของเครื่องสำอางแบรนด์ระดับโลคอลในบางประเทศเลยทีเดียว) พระนางเคยเป็นผู้ชายมาก่อน เมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่เฉพาะแต่ในชมพูทวีป และภูมิภาคอื่นๆ นะครับ

จะมีก็เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อันมี “จีน” เป็นศูนย์กลางสำคัญทางวัฒนธรรม และการเมือง ที่ได้กระทำการรีโนเวตพระองค์เสียใหม่ จนได้เปลี่ยนเพศจาก “หนุ่ม” กลายเป็น “สาว” ก่อนจะส่งต่อเจ้าแม่องค์นี้ไปยังดินแดนอื่นๆ ของโลก ผ่านทางอะไรที่เรียกกันว่า ชาวจีนโพ้นทะเล

เพราะแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น บรรดาศาสนิกชน ผู้ศรัทธา เรียกพระองค์ว่า “พระอวโลกิเตศวร” ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ระดับป๊อปสตาร์แถวหน้าพระองค์หนึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

และก็ยังคงเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา จนแม้กระทั่งเมื่อพระองค์ได้เสด็จออกธรรมยาตรา มาถึงผืนแผ่นดินมังกรในช่วงแรกๆ ในช่วงหลังราชวงศ์ฮั่น คือหลัง พ.ศ.767 ที่จีนได้ผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสามก๊ก (บางท่านก็เชื่อว่า ศาสนาพุทธได้เดินทางมาถึงจีนตั้งแต่ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว)

พระองค์ก็ยังครองเพศชาย ในฐานะของนักบวชอยู่ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเป็นเพศหญิงอย่างทันทีทันใด

 

ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ควบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญในจีนศึกษา โดยเฉพาะทางด้านวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่าง ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กรุณาอธิบายให้ผมฟังว่า ชาวจีนได้เริ่มเปรียบเทียบพระอวโลกิเตศวร (ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา) กับความงามของผู้หญิง มาตั้งแต่ราชวงศ์จิ้นตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ในยุคที่จีนเรียกว่า ยุคห้าชนเผ่า สิบหกแคว้น ซึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.857 คือประมาณ 100 ปี หลังจากพุทธศาสนาได้ถูกเผยแพร่เข้ามาในดินแดนจีน

อ.อชิรัชญ์ ยังระบุต่อไปด้วยว่า ในยุคสมัยต่อมาอย่างราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดสมัยหนึ่งของจีน ได้มีจิตรกรในราชสำนักที่ชื่อ อู่เต้าจื่อ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1223-1302) ได้วาดภาพพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ขึ้น โดยมีแบบมาจากหญิงสาวในราชสำนัก

แต่ในสมัยนี้พระโพธิสัตว์ท่านก็ยังทรงครองเพศชายอยู่นะครับ เพราะอย่างน้อยท่านก็ยังทรงไว้พระมัสสุคือหนวด อยู่ที่เหนือริมพระโอษฐ์

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในช่วงปลายของราชวงศ์ดังกล่าว (ราชวงศ์ถังสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ.1450) ก็เริ่มมีความนิยมในการพูดถึงการจำแลงพระวรกายลงมาช่วยเหลือมนุษย์ ในรูปร่างต่างๆ ของพระอวโลกิเตศวร (อย่างที่เคยนิยมมาก่อนแล้วในอินเดีย)

แน่นอนว่า หนึ่งในรูปจำแลงเหล่านั้นก็มีที่เป็น “ผู้หญิง” อยู่ด้วย

แต่ก็ยังไม่มีการสร้างรูปของพระอวโลกิเตศวรในฐานะของผู้หญิงอยู่ดี

เราต้องรอจนถึงยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ.1503-1669) โน่นเลย กว่าที่พระโพธิสัตว์พระองค์นี้ จะครองเพศเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์

ดังจะเห็นได้ว่า ประติมากรรมจากวัดถ้ำม่ายจีซาน ที่สร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ที่ว่า ได้สร้างรูปพระอวโลกิเตศวรครองเครื่องนุ่งห่มด้วยเสื้อคอปิด อย่างสตรีในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งก็คงจะได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งที่สั่งสมกันมาข้างต้นนั่นแหละ

อ.อชิรัชญ์ให้ข้อมูลทิ้งท้ายเอาไว้อย่างนั้น

 

ผมรับฟัง อ.อชิรัชญ์ ด้วยความสบายใจ เพราะข้อมูลจากอาจารย์สาวโสดสนิทท่านนี้ ที่ชาวจีนเชื่อว่าคือ ปาง, พระชาติ หรือรูปจำแลงหนึ่งของ “พระอวโลกิเตศวร” ในรูปของผู้หญิง ซึ่งก็คือ “เจ้าแม่กวนอิม” นั่นเอง

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของนิทานเรื่อง “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” พบอยู่บนศิลาจารึกสองหลัก ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงใกล้เคียงกันคือ จารึกที่เรียกว่า จารึกเจี่ยงจือฉี ตามชื่อของผู้สร้างจารึก ซึ่งถูกจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.1643 แต่ถูกแก้ไข และเพิ่มเติมข้อความในอีก 4 ปีต่อมาคือ พ.ศ.1647 และสำเนาของชิ้นส่วนจารึกหมายเลข 02202 จากห้องสมุดฟู่ซือเหนียน (ห้องสมุดจีนศึกษาแห่งนานกัง ประเทศไต้หวัน, Library of the Academic Sinica at Nan Kang) ซึ่งระบุปี พ.ศ.1647 เช่นกัน

แน่นอนว่าจารึกทั้งสองทั้งสองหลักนี้ว่ากันด้วยเรื่องบุญญาบารมีของ “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” พระชาติหนึ่งของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ที่ถูกทรมานและทรกรรมโดยพระราชบิดาของพระนาง อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “เจ้าแม่กวนอิม” ที่ชาวจีนทั้งหลาย ไม่ว่าจะแผ่นดินใหญ่ แผ่นดินเล็ก เกาะฮ่องกง หรือเกาะไต้หวัน รวมไปถึงบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลรู้จักกันดีนั่นเอง

แถมช่วงเวลาที่มีการจดจารจารึกทั้งสองหลักดังกล่าว มันตรงกันกับยุคที่จีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ซ่งเหนือที่ อ.อชิรัชญ์ คนดีคนเดิมให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการสร้างประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในรูปของผู้หญิง ซึ่งก็น่าจะพอเรียกได้ว่าคือ “เจ้าแม่กวนอิม” ในวัดถ้ำม่ายจีซานนั่นแหละนะครับ

พูดง่ายๆ ว่าเรื่องของ “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” คือสิ่งที่มอบสิทธิธรรม และเติมเต็มความเป็นหญิง ให้กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในสังคมจีน แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือว่า ทำไมชาวจีนจะต้องแปลงพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ให้เป็นสาวด้วย?

 

ในขณะที่พุทธศาสนาถูกเผยแผ่เข้ามาในสังคมอุษาคเนย์ของเรา เมื่อประมาณ พ.ศ.1000 นั้น ศาสนาดั้งเดิมคือศาสนาผี ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นหลัก ผีของเราจึงมักจะเป็น “ผีผู้หญิง” อะไรที่ใหญ่ๆ โตๆ ก็มักจะเรียกนำหน้าด้วยคำว่า “แม่” เช่น แม่น้ำ แม่พิมพ์ หรือแม้กระทั่งตำแหน่งของผู้ชายอย่างแม่ทัพ

เรียกได้ว่า เป็นสังคมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่

และศาสนาพุทธ (รวมถึงพราหมณ์-ฮินดู ที่ก็อิมพอร์ตจากอินเดียเข้ามาเหมือนกัน) ก็คือศาสนาที่มอบอำนาจให้กับผู้ชาย มากกว่าที่เคยเป็นมา ดูง่ายๆ ก็จากนักบวช ที่ต้องเป็นเฉพาะผู้ชายนี่แหละ

แต่เมื่อสมัยที่พุทธศาสนาแผ่กระจายเข้าสู่ดินแดนของพวกจีนนั้น ศาสนาขงจื๊อที่มอบอำนาจอย่างเต็มรูปแบบแก่ “ผู้ชาย” ได้ถูกสถาปนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นของพวกเขามานานนมแล้ว โดยเฉพาะในราชสำนัก ที่ใช้คำสอนของขงจื๊อเป็นหลักในการบริหารจัดการทั้งจักรวรรดิ และสังคมวัฒนธรรม

ดังนั้น เมื่อศาสนาจากต่างแดนอย่างศาสนาพุทธถูกอิมพอร์ตเข้ามา จึงกลายเป็นที่พึ่งพิงของบรรดาผู้หญิงในจีนมันไปเสียอย่างนั้น

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ การที่จักรพรรดินีพระองค์แรก และพระองค์เดียวของจีนอย่าง พระนางอู่เจ๋อเทียน (ที่ไทยเราชอบออกเสียงตามสำเนียงฮกเกี้ยนว่า บูเช็กเทียน ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1167-1248) ที่ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแทบจะหาที่เปรียบมิได้

และก็ไม่ต้องสงสัยว่า บรรดาขุนนางที่แวดล้อมอยู่รอบพระวรกายของพระองค์ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายที่ยึดมั่นตามขนบความเชื่อแบบขงจื๊อแทบทั้งนั้น

นี่ยังไม่นับว่า อู่เต้าจื้อ จิตรกรแห่งราชสำนักถัง ที่วาดรูปพระอวโลกิเตศวร ด้วยแบบจากหญิงสาวในราชสำนัก ก็มีชีวิตคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงปลายของพระนางอู่เจ๋อเทียนพอดี

ในรัชสมัยของอู่เจ๋อเทียน ได้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นมาใหม่คือ “ราชวงศ์อู่โจว” ซึ่งสกุลอู่ของพระนางรุ่งเรืองถึงขีดสุด ก่อนจะกลับไปใช้ชื่อ “ราชวงศ์ถัง” ตามเดิมเมื่อสิ้นรัชกาล พร้อมกับการกลับมาทวงคืนอำนาจของสกุลหลี่ แน่นอนว่า อู่เต้าจื้อ ก็น่าจะสืบสายมาจากสกุลอู่ ที่มีอู่เจ๋อเทียน เป็นผู้นำ

และที่สำคัญก็คือพระนางเป็นผู้หญิง

 

สิ่งที่ศาสนาพุทธนำมาอีกอย่างก็คืออะไรที่เรียกว่า “ภิกษุณี” ซึ่งดูจะได้รับความนิยมในจีนเสียยิ่งกว่าดินแดนต้นกำเนิดอย่างอินเดียเสียอีก

หลักฐานที่เห็นได้ชัดก็คือในขณะที่ภิกษุณีในอินเดีย ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของพระภิกษุที่เป็นผู้ชาย จีนในสมัยราชวงศ์ถังนี่เอง ที่มีการถกเถียง และแปลความหลักเกณฑ์ในพระไตรปิฎกข้อนี้กันใหม่ จนสรุปออกมาด้วยผลที่มอบอำนาจให้บรรดาภิกษูณีทั้งหลายได้ปกครองกันเอง ไม่ต้องขึ้นกับพระภิกษูที่เป็นผู้ชาย

และนี่ก็ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ “ผู้หญิง” จีนในยุคโน้น ได้ใช้สำหรับหลบเลี่ยงอำนาจในโลกฆราวาส ที่เป็นของผู้ชายนะครับ หลักฐานหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงจีนใช้การบวชเป็นภิกษุณี เป็นช่องทางในการหลบหนีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนที่ไม่พึงประสงค์ การต้องจ่ายสินสอดทองหมั้น หรือทรัพย์สินที่ไปพร้อมกับเจ้าสาวจำนวนมากตามกฎหมาย และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด

การบวชเป็นภิกษุณีในสังคมจีนได้ทวีความซับซ้อนกว่าในอินเดียไปอีกมาก

ตัวอย่างเช่น ก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการเป็น “หนีโถง” คือหญิงสาวผู้ศึกษาธรรมสำหรับเตรียมเป็นภิกษุณี เป็นเวลาหลายปี กว่าที่จะได้รับอนุญาตให้บวชอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

โดยหญิงสาวเหล่านี้จะยังไม่ได้ปลงผม และไว้ผมยาวตามแบบฆราวาสทั่วไปจึงเรียกอีกอย่างว่า “ฉางฟ่า” (ซึ่งก็แปลตรงตัวว่า ผมยาว) ถ้าเคยเห็นหญิงสาวผมยาวอยู่ในสำนักนางชีตามซีรี่ส์กำลังภายในของจีน ก็นั่นแหละครับคือพวกหนีโถง ที่ผมว่า

สำนักภิกษุณี (หรือสำนักนางชี ในนิยายกำลังภายใน) ในจีนเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง โดยเฉพาะในราชวงศ์ซ่งเหนือตอนต้น ซึ่งมีสำนักภิกษุณีที่สำคัญ และโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น แถมยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถบวชได้อย่างเป็นสาธารณะชื่อว่า “สำนักภิกษุณีเมี่ยวซ่าน”

ถูกต้องแล้วนะครับ “เมี่ยวซ่าน” (??) เดียวกันกับที่สะกดเป็นชื่อของ “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” ซึ่งก็คือเจ้าแม่กวนอิม ในจารึกสองหลักที่ผมว่านั่นแหละ เพียงแต่ว่าสำนักภิกษุณีนี้มีมาตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์ซ่งเหนือ แต่จารึกสองหลักนั้นระบุศักราชในช่วงปลายราชวงศ์แล้ว

ถึงแม้ว่านักวิชาการชาวจีน มักจะโอนเอนไปในทางที่ว่า “พระอวโลกิเตศวร” ได้กลายมาเป็น “เจ้าแม่กวนอิม” ก็เพราะคุณลักษณะที่อ่อนโยน เพราะพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา

แต่ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า เมื่อพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานต่างๆ แล้ว เหตุผลดังกล่าวจะสำคัญไปกว่า สถานภาพของผู้หญิงในยุคนั้น และสารพัดสิ่งอันที่ศาสนาพุทธให้กับพวกเธอได้?

และถ้าหากว่า พวกเธอจะเนรมิตพระโพธิสัตว์องค์สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา อย่างพระอวโลกิเตศวร ให้กลายมาเป็นผู้หญิง แล้วให้มีชื่อเดียวกับสำนักภิกษุณีแห่งสำคัญ (ซึ่งหากจะตั้งชื่อตามภิกษุณี หรือเจ้าหญิงที่ไหนก็ไม่เห็นจะแปลก?) ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรไม่ใช่หรือครับ?